นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า โรค ASF เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วโลกเพราะเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในฟาร์ม ทำให้สุกรเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ยังคงแพร่ระบาดในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งยังเป็นปัจจัยลบที่มีผลให้การผลิตสุกรในภูมิภาคผันผวน มีผลต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตสุกรจำนวนมาก ผู้เลี้ยงสุกรจึงต้องรับภาระต้นทุนป้องกันโรคสูงขึ้นต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดได้
ทั้งนี้ ต้นทุนการป้องกันโรค ASF ที่สูงขึ้น มาจากความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดทั้งในเรื่องของการตรวจสอบสุขภาพสุกร การกำจัดสุกรที่ติดเชื้อ การใช้วัคซีนป้องกันโรค และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในฟาร์ม หากพบการติดเชื้อ ฟาร์มต้องมีการทำลายสุกรที่ติดเชื้อทันที และดำเนินการฆ่าเชื้อสถานที่และอุปกรณ์ทั้งหมด ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรสูงขึ้น ซึ่งในบางกรณีอาจทำให้ฟาร์มบางแห่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และเป็นสาเหตุให้ผลผลิตขาดแคลนในบางครั้ง ทำให้ราคามีการปรับขึ้น-ลงตามกลไกตลาด (Demand-Supply) นับเป็นความท้าทายที่ผู้เลี้ยงสุกรในไทยต้องเผชิญในการผลิตเนื้อหมูอย่างยั่งยืน
