ศาลธัญบุรี สั่งจำคุก “อานนท์ นำภา” 1 ปี ผิดม.116 ปราศรัยหมิ่น ใส่ร้ายสถาบันฯ รวมโทษโดนขังกว่า 18 ปี 19 เดือน
ข่าวที่น่าสนใจ
7 มี.ค.68 ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตาม มาตรา 116 ของนักกิจกรรม 9 ราย กรณีชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำเลยในคดีนี้มีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี, “ไฟซ้อน” สิทธินนท์ ทรงศิริ, “ลูกมาร์ค” และ “สาธร” (นามสมมติ)
โดยจำเลย 6 คน ได้แก่ ณัฐชนน, ชนินทร์, ไฟซ้อน, ลูกมาร์ค และ สาธร ทยอยเดินทางมาฟังยังห้องพิจารณาคดี ต่อมา “อานนท์” ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาที่ห้องพิจารณาคดี โดยพบว่ามีคิ้วข้างขวาที่ถูกโกน ซึ่งมีเหตุมาจากการประท้วงศาลของเขาในคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังมี “แอมป์” ณวรรษ ถูกนำตัวมาห้องพิจารณาคดีเดียวกัน เนื่องจากมีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 กรณีกิจกรรมหน้า สภ.คลองหลวง อีกคดีหนึ่ง
สำหรับวันนี้มีประชาชนและเพื่อนของจำเลยมาร่วมให้กำลังใจประมาณสิบกว่าคน อีกทั้งยังมีจำเลยในคดีมาตรา 112 ดังกล่าวอีก 3 คน ที่มารอการตรวจพยานหลักฐานด้วย ทำให้ห้องพิจารณาในวันนี้เต็มไปด้วยจำเลยในคดีทางการเมือง
จากนั้น ศาลออกนั่งบัลลังก์ แจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ ก่อนที่จะตรวจพยานฯ ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง และขานชื่อจำเลยทีละคน ซึ่งสรุปเป็นใจความสำคัญ ได้ดังนี้
-ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่าการชุมนุมตามฟ้อง มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรวจอุณหภูมิตรงทางเข้าที่ชุมนุม ส่วนในลานพญานาคเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท เมื่อเปรียบเทียบกับที่ชุมนุมนั้นไม่คับแคบ ไม่ได้อยู่หนาแน่นที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกัน ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แม้มีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ก็เป็นส่วนน้อย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ จะมีเหตุไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น
ถือว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 6-9 ในฐานะผู้จัดกิจกรรม ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 7 คน ชุมนุมในสถานที่แออัด อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโรคหรือความวุ่นวายในการจัดกิจกรรม
– ข้อหามาตรา 116 เห็นว่าพยานโจทก์ที่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่ชุมนุม ไปประจำตามจุดต่างๆ มีเวทีอยู่สูงและมีโปรเจคเตอร์ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะอยู่จุดใด จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย จึงมีความน่าเชื่อถือว่าพูดตามจริง
จำเลยที่ 1 ปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ และอ่านข้อเรียกร้องสิบประการ ส่วนจำเลยที่ 3 ปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และจำเลยที่ 4 อ่านประกาศคณะราษฎรและปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์
จำเลยที่ 1, 3, 4 ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องพระราชสถานะของกษัตริย์, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, กล่าวว่าสถาบันกษัตริย์ขยายพระราชอำนาจตามอำเภอใจ, ใช้อำนาจแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และใช้อำนาจคุกคามทำร้ายประชาชนที่เห็นต่าง และมีการให้ผู้ชุมนุมทำสัญลักษณ์ต่างๆ ย่อมทำให้ประชาชนคิดและเกิดความเคลือบแคลงสงสัย โดยประการที่น่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่อยู่ในที่เคารพสักการะ มีการใช้ข้อมูลบางส่วนซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกเล่าต่อกันมาในอดีต ปราศจากการพิสูจน์มาเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกเร้า ปลุกปั่นผู้ชุมนุมให้เห็นด้วยและคล้อยตาม เป็นการสร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง เกิดความแตกแยก
จำเลยที่ 7 และ 8 เป็นพิธีกร ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพูดปราศรัยบนเวที แต่มีการพูดว่า “รูปที่มีอยู่ทุกบ้าน” และ “ทรงพระเจริญ” เห็นว่าเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ฯ
จำเลยที่ 1 ปราศรัยหยาบคาย ผู้คล้อยตามข้อมูลที่ได้รับ อาจนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้ข้อมูลที่มีเจตนาเพื่อบ่อนทำลาย หรือทำให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลายไป ไม่ว่าพูด เขียน หรือข้อเรียกร้อง เป็นการด้อยค่า ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ แสดงให้เห็นเจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์
ส่วนจำเลยที่ 6 และ 9 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นตัวการแบ่งหน้าที่กันทำในการปราศรัย และไม่ปรากฏว่ามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง อันมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร
-ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 6-9 เป็นผู้เผยแพร่ข้อความเชิญชวนหรือเป็นผู้ถ่ายทอดสด (Live) และพยานโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบ IP Adress บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าเป็นของบุคคลใด
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 3 (อานนท์), 4 (ณัฐชนน), 7 (ไฟซ้อน), 8 (ลูกมาร์ค) มีความผิดตามมาตรา 116 (2), (3) ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 (ชนินทร์และสาธร) ในทุกข้อหา และยกฟ้องจำเลยที่ 1, 3, 4, 7, 8 ในส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น “ณัฐชนน” ยังคงต้องอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อ เพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง และเมื่อการพิจารณาทั้ง 2 คดีเสร็จสิ้นแล้ว ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้าใส่กุญแจข้อมือ โดยณัฐชนนถูกใส่กุญแจมือทั้งสองข้าง ส่วนไฟซ้อนและลูกมาร์คถูกใส่กุญแจมือคนละหนึ่งข้าง ก่อนนำตัวลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาลระหว่างรอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
ด้านณวรรษและอานนท์ เมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ก็ถูกนำตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลเช่นกัน เพื่อที่จะรอกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมกับโทษจำคุกรวมทั้งหมดของอานนท์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี 19 เดือน 20 วัน แล้ว ทุกคดียังไม่สิ้นสุด เป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น โดยในวันนี้อานนท์ไม่ได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลนี้แต่อย่างใด
ต่อมา ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 3 คน ได้แก่ ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค ในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางเงินประกันตัวคนละ 100,000 บาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม
จำคุกคดี ม.116 ‘อานนท์-ณัฐชนน-ไฟซ้อน-ลูกมาร์ค’ 1 ปี ก่อนลดเหลือ 9 เดือน กรณีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เห็นว่าปราศรัยสร้างความกระด้างกระเดื่อง ได้ประกันชั้นอุทธรณ์
.
.
7 มี.ค. 2568 เวลา 09.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตาม #มาตรา116 ของนักกิจกรรม 9 ราย… pic.twitter.com/93RRFNhU8x— TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (@TLHR2014) March 7, 2025
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น