“วรวงศ์” นำทีมพณ.เจรจา”รมช.เกษตรฯ” แอฟริกาใต้ แลกเปลี่ยนวิชั่น 2 ปท. ขยายโอกาสสินค้าไทย

"วรวงศ์" นำทีมพณ.เจรจา"รมช.เกษตรฯ" แอฟริกาใต้ แลกเปลี่ยนวิชั่น 2 ปท. ขยายโอกาสสินค้าไทย

วันนี้(26 มี.ค.) ที่กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พร้อมนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และฑูตพาณิชย์ ได้เข้านางสาวโรสแมรี่  โนคูโซลา คาปา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้  และการประมง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พร้อมคณะ เพื่อ กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและแอฟริกาใต้พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรนำเข้าและส่งออกสำคัญของไทย ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้  และการประมง กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

 

 

 

 

 

นายวรวงศ์ เปิดเผยว่า ตนและคณะฯได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเข้าพบและหารือกับนางสาวโรสแมรี่  โนคูโซลา คาปา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้  และการประมง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยในการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ประสบการณ์ทางด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง และคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าไทย อาทิ สินค้าข้าวที่แอฟริกาใต้นำเข้าจากไทยมากกว่าร้อยละ 90 รวมถึงผลไม้ อาทิ มังคุดและลำใย และได้ขอให้แอฟริกาใต้สนับสนุนนำเข้ามะม่วงจากไทยด้วย ขณะที่แอฟริกาใต้ ต้องการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์อย่างเช่นเนื้อวัวและนกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้นของประเทศไปยังไทย

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ในการหารือพบว่า แอฟริกาใต้มีความสนใจเรื่องเกษตรกรรม จึงต้องการที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการถ่ายโอนความรู้ร่วมกัน ซึ่งทางประเทศไทยก็เห็นด้วย และจะมีการสร้างความร่วมมือร่วมกันเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้เกิดขึ้น รวมถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผ่านคณะทำงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC(Joint Trade Committee)เพื่อยกระดับจากเจ้าหน้าที่เป็นระดับรัฐมนตรีในการหารือร่วมกัน

“ระหว่างการหารือกับ สิ่งที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้  และการประมง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พบว่า ประเทศไทยและ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้มีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน ซึ่ง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้เป็นฮับของทวีปแอฟริกา ซึ่งคล้ายคลึงกับไทยที่เป็นฮับในหลายเรื่องของภูมิภาคเอเชีย ไทยจึงเปิดให้มีการค้าระหว่างกัน ดังนั้นในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ตนเชื่อว่าจะช่วยให้บรรลุ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต จากนโยบายของทั้งสองประเทศที่มีความสอดคล้องกันอาทิความต้องการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ/สองต้องการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน/และ3ต้องการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าระหว่างประเทศให้ดีขึ้น ”นายวรวงศ์ ระบุ

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้อยู่ในกลุ่มสหภาพศุลกากรแอฟริกาใต้ (SACU) จึงได้มีหารือถึงการเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) เพื่อให้สามารถบรรลุขอตกลงได้โดยเร็วภายในปีนี้หรือปีหน้านี้

“สำหรับสินค้าผลไม้ แอฟริกาใต้ได้เริ่มส่งออกแอปเปิ้ลมายังไทย และยังมีแผนจะส่งเสริมการส่งออกผลไม้ชนิดอื่นมาไทยด้วย ขณะเดียวกันแอฟริกาใต้ได้มีความต้องการนำเข้ามังคุดและลำไยจากไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้แอฟริกาใต้สนับสนุนนำเข้ามะม่วงจากไทยด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ยังยินดีที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิดในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเกี่ยวกับสินค้าเกษตรของแอฟริกาใต้ในช่วงพฤศจิกายน 2568 เพื่อให้สินค้าเกษตรส่งออกของไทยเป็นตามมาตรฐานของแอฟริกาใต้ ขณะที่รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ของแอฟริกาใต้ ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยที่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้อีกด้วย” นายวรวงศ์กล่าว

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

จากนั้น นายวรวงศ์ และคณะฯ ได้เดินทางไปทีีซุปเปอร์มาร์เก็ตฟู้ดเลิฟเวอร์มาร์เก็ต (Food Lover’s Market) สาขา Castle Gate กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยนายวรวงศ์ ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย ได้โชว์ฝีมือทำต้มยำกุ้ง เสิร์ฟด้วยข้าวหอมมะลิไทย ให้ผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ได้ลิ้มลอง พร้อมร่วมจัดกิจกรรมแจกชิมอาหารไทย อาทิ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย มัสมั่นไก่ ข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งร่วมแจกสินค้าอาหารไทย อาทิ ข้าวหอมมะลิไทย เครื่องปรุงรส ซอส อาหารกระป๋อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าไทยและกระตุ้นให้มีการบริโภคสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

นายวรวงศ์ ระบุว่า กิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย เพื่อต้องการส่งเสริมให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและ กระตุ้นให้มีการบริโภคสินค้าไทยเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะนำไปสู่การนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอย่างน้อย 8% ขณะเดียวกัน ได้พยายามส่งเสริมการขายเรื่องข้าวในแอฟริกาใต้ให้เพิ่มขึ้น โดยจะมีการลงนาม MOU ร่วมกันในการซื้อข้าวจากประเทศไทย 391,000 ตัน โดยซุปเปอร์มาร์เก็ตฟู้ดเลิฟเวอร์มาร์เก็ต ได้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย เพื่อมาวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

 

 

 

” เชื่อว่าการมาเปิดตลาดสินค้าไทยที่ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ จะเป็นผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งระบายสินค้าเกษตรทั้งหลายโดยการเร่งเปิดตลาดใหม่ พร้อมพยายามทำความเข้าใจกับผู้ซื้อข้าวให้เข้าใจสินค้าและรับทราบถึงสินค้สไทยที่มีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทซอื่น ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคจะรับรู้ถึงคุณภาพสินค้าไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันเตรียมนำสินค้าไทยไปวางจำหน่ายในร้าน เอเชี่ยนมาร์เก็ตอีกด้วย“ นายวรวงศ์ กล่าว

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยที่ Food Lover’s Market จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยมีกำหนดจัดกิจกรรม 6 ครั้ง กับ 6 สาขา ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4

 

 

Food Lover’s Market เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในแอฟริกาใต้ เปิดให้บริการมากว่า 30 ปี และมีจำนวน 120 สาขาในแอฟริกาใต้ (บอตสวานาจำนวน 2 สาขา ซิมบับเวจำนวน 4 สาขา และนามิเบียจำนวน 4 สาขา) สินค้าไทยที่วางจำหน่ายใน Food Lover’s Market เช่น ข้าวนึ่ง ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย ปลากระป๋อง กะทิกระป๋อง เครื่องแกง/เครื่องปรุงรส ซอส เส้นหมี่ ขิงดอง ทั้งนี้ Food Lover’s Market เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต (mass market หรือ mainstream) ที่มีสินค้าไทยวางจำหน่ายมากที่สุดในแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ สินค้าไทยยังมีวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกเอเชีย (niche market) ซึ่งมีสินค้าไทยหลากหลายรายการกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต mainstream

 

ส่วนการค้าไทย-แอฟริกาใต้ ในปี 2567 แอฟริกาใต้เป็นตลาดส่งออกสำคัญ อันดับที่ 23 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกสำคัญ อันดับที่ 1 ในทวีปแอฟริกา (คิดเป็นร้อยละ 44.14 ของมูลค่าส่งออกไทยไปยังทวีปแอฟริกา รองลงมาคือ อียิปต์ เซเนลกัล ลิเบีย ตามลำดับ) โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศแอฟริกาใต้ มูลค่า 3,065.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 33.63 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปแอฟริกาใต้) (2) ข้าว (ร้อยละ 15.59) (3) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (ร้อยละ 12.22) (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (ร้อยละ 5.89)  และ (5) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 4.49) ตามลำดับ อนึ่ง ปี 2567 ไทยได้ดุลการค้าประเทศแอฟริกาใต้ มูลค่า 2,462.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ชาวชุมชนหนองค้อ ร่วม ฉลองสัญญาบัตรพัดยศ เจ้าอาวาสวัดหนองฆ้อ
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์แด่ "เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา" และ "พระองค์เจ้าโสมสวลี"
"พิพัฒน์" นำทีมเปิดศูนย์ประสานช่วยเหลือแรงงาน เหตุแผ่นดินไหว ยันบริการครบวงจร พร้อมให้กำลังใจแพทย์สนามทำหน้าที่สำคัญ
ยอดดับเหตุแผ่นดินไหวเมียนมาพุ่งทะลุ 2 พันราย
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 1 เตือน "ภาคใต้" ฝนตกหนักถึงหนักมาก 1-4 เม.ย.นี้ จว.ไหนบ้างเช็กเลย
"พิชัย" สั่งตรวจ "บจ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" ปมตึก สตง.ถล่ม ลั่นพบผิดดำเนินคดีถึงที่สุด
“สรวงศ์” ประชุมด่วนรัฐ-เอกชน ฟื้นความเชื่อมั่น นทท.หลังแผ่นดินไหว
สื่อเผยผู้ป่วยล้นรพ.-ศพล้นเมรุที่เมียนมา
ได้กลิ่นตุๆ "บิ๊กเต่า" พร้อมฟันผิดปมตึก สตง.ถล่ม ลั่นหากใครผิดต้องดำเนินคดี
"เมียนมา" ประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศ 1 สัปดาห์ หลังมีผู้เสียชีวิตแผ่นดินไหวพุ่งแตะ 1,700 คน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น