จากกรณีที่ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย
โดยมี ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน รวมถึงมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดประเด็นการสอบสวน แนวทางการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน สำหรับนำเข้าสำนวนคดี ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (9 เม.ย.68) พันตำรวจตรี ยุทธนา เปิดเผยว่า สำหรับกรอบการทำงาน ดีเอสไอพยายามทำงานให้เร็วที่สุด พยายามเร่งที่สุด หากติดตามจนเจอตัวพยานก็จะได้ทำการสอบสวนปากคำ แต่ถ้าติดตามแล้วยังไม่พบตัว มันก็ต้องขยายเวลาออกไปเล็กน้อย แต่จะไม่กระทบกับหลักการสอบสวนในประเด็นอื่น หรือการรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ส่วนอุปสรรคในการติดตามพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยพบข้อมูลตามการรายงานว่า มีการย้ายสำนักงานหลายแห่งนั้น มันก็ยิ่งเป็นข้อสันนิษฐาน และพยานหลักฐานได้ว่า บริษัทฯ อาจไม่ได้มีการประกอบกิจการที่เป็นหลักเป็นฐานจริง อาทิ การมีที่อยู่เดียวกันกับหลายบริษัท หรือพอเกิดเหตุขึ้นกลับมีการปิดสำนักงานบางจุดแล้วย้ายไปที่อื่นแทน มันก็ยิ่งสอดคล้องกับการที่อาจไม่ได้มีการตั้งบริษัทที่เป็นหลักเป็นฐานจริงๆ ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ใช่เป็นการทำลายพยานหลักฐาน แต่ดีเอสไอก็สามารถเก็บรวบรวมร่องรอยหลักฐานที่เหลือได้