ผู้ค้า “ตลาดนัดจตุจักร” โวย “กทม.” จัดพื้นที่ค้าไม่เป็นธรรม ให้เอกชนประมูล กระทบค่าที่โหด เดือดร้อนกว่า 500 แผง
ข่าวที่น่าสนใจ
20 เม.ย.2568 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากผู้แทนพ่อค้า-แม่ค้า ในตลาดนัดจตุจักร “ที่อยู่ในโครงการ 30” ที่ได้รับผลกระทบจากทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการไล่ที่ โดยเปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากการถูกกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไล่ที่ โดยอ้างว่า กทม. นำพื้นที่โครงการ 30 ไปประมูลให้ “ตลาดอินดี้” โดยใช้ชื่อ “ลานหอนาฬิกา” ซึ่งเป็นการควบรวมพื้นที่โครงการ 30 และลานเล่เข้าด้วยกัน เพื่อเลี่ยงบาลี
ขณะที่ การประมูลดังกล่าวไม่เป็นธรรม เนื่องจาก กทม. ใช้ชื่อเรียกพื้นที่ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถโต้แย้งได้ นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกโครงการ 30 และนำพื้นที่ไปประมูล ซึ่งสอดคล้องกับการกระทำของ กทม. อีกทั้งผู้ค้ายังร้องเรียนถึงค่าเช่าและค่าส่วนกลางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะค่าปรับที่เพิ่มขึ้นถึง 1,800% ต่อปี หากจ่ายค่าแผงล่าช้า
รวมทั้งค่าเช่าแผงที่รวมค่าส่วนกลางด้วยจากเดิม 1,800 บาท เป็น 2,300 บาท และช่วงเดือนตุลาคม 2568 ที่ใกล้จะถึงนี้ จะมีการเรียกเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มอีก 500 บาท รวมเป็นเงิน 2,800 บาท รวมถึง นายชัชชาติ ยังมีการเก็บค่าริมราง 500 บาท และค่าทำเล 800 บาท เพิ่มเติม
โดยก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คิดเพียงแค่ 1,800 บาท ไม่มีอย่างอื่น ยกเว้น ภาษีโรงเรือน กับ ภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายเอง ซึ่งมีการชำระตามค่าเช่าของการรถไฟอยู่แล้ว ส่วนลิมรางจะไม่อนุญาตให้วางของบนริมรางได้ เนื่องจากต้องมีการเปิดฝาท่อทำความสะอาดเป็นประจำ แต่นายชัชชาติ กลับปล่อยให้ขายบนริมรางได้ แลกกับการเก็บเงิน 500 บาท
ผู้แทน ผู้ค้า เผยอีกว่า พื้นที่ ที่กทม. จัดสรรให้ใหม่เป็น “ทำเลตาย” ซึ่งเป็นแผงที่ถูกทิ้งร้างและขายไม่ได้ อีกทั้งยังลดขนาดแผงจาก 2 แผง เหลือ 1 แผง ต่อ 1 สิทธิ์ โดยขนาดแผงมีความกว้าง 2 เมตร และลึก 2.5 เมตร ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์ของผู้ค้า ในพื้นที่โครงการ 30 (529 แผง) นอกจากนี้ ผู้ค้ายังกังวลว่า เมื่อตลาดอินดี้เข้ามาเปิด จะมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบให้สามารถเปิดขายได้ตอนกลางคืน และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตลาดของรัฐบาล ปัจจุบัน ผู้ค้าได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลปกครอง, คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง และสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้รับความคืบหน้า
ผู้ค้า เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ กทม. กำหนดให้ผู้ค้าออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ รวมทั้งก่อนหน้านี้ให้ผู้ค้าทำประกันอัคคีภัย โดยผู้รับผลประโยชน์คือ กทม. ซึ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ผู้ค้าจะหมดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแผงทันที รวมกว่า 1 หมื่นแผง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปรียบเทียบกับตลาดบริเวณรอบข้าง ค่าเช่าตลาดจตุจักร ราคาอาจเท่ากับ หรือแพงกว่าตลาดเอกชน ข้างเคียง เนื่องจากความแตกต่างของขนาดแผง และระยะการขาย ซึ่งเอกชนขายได้ 30 วัน แต่เราขายเพียง 8 วันเท่านั้น ซึ่งเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้แทน พ่อค้า-แม่ค้า ตลาดนัดจตุจักร ในโครงการ 30 กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น