หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ในฝั่งของไทยเรา ก็ยังคงเกิดแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นขนาดที่ไม่รุนแรงมากนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในจังหวัดที่มีรัศมีใกล้เคียงกับประเทศเมียนมา
โดยเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 19.52 น. กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงานว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยวัดความรุนแรงได้ขนาด 2.4 ตามมาตราริกเตอร์ ลึกจากผิวดินประมาณ 1 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานความเสียหายต่ออาคาร หรือโครงสร้างพื้นฐาน และไม่มีประชาชนแจ้งว่ารับรู้แรงสั่นสะเทือน หรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ต่อมา พล.ต.อัษฎาวุธ ปันยารชุน ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พล.ต.ต.พรชัย ชลอเดช ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาญจนบุรี พ.อ.พรรณศักย์ เพรียวพานิช ผบ.ฉก.ลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ประสานกับ นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ พ.ต.อ. ปริญญา ใคร่ครวญ ผู้กำกับการ สภ.ทองผาภูมิ ลงพื้นที่เขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง และผลกระทบจากแผ่นดินไหว ต่อแนวสันเขื่อน ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบพบ สันเขื่อนอยู่ในสภาพปกติ ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตรวจสอบแล้ว เขื่อนไม่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นไหว เขื่อนปลอดภัยแข็งแรงมั่นคง ปกติดี
ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เขย่าเบาๆ ใกล้เขื่อนวชิราลงกรณ แผ่นดินไหว ขนาด 2.4 ลึก 1 กม. ที่อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี แม้ไหวขนาดเล็ก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดี เพราะบริเวณนี้ มีเขื่อนใหญ่ 3 แห่ง ที่สร้างบนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ คือ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนท่าทุ่งนา
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สะกาย เมื่อ 28 มีนาคม เกือบทุกคนโฟกัสไปที่ตึกสูงในกรุงเทพฯ แต่ผมอยากให้ความสำคัญกับ 3 เขื่อนนี้ โดยเฉพาะเขื่อนเขาแหลม ที่มีปัญหาฐานรากระหว่างก่อสร้าง จึงต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น เป็นพันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหานี้ ปัญหาไม่ได้มีแค่ความมั่นคงของตัวเขื่อน แต่ยังมีสิ่งที่น่าห่วง คือดินถล่มเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จากแผ่นดินไหว ที่อาจถล่มลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ และอาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิในอ่างเก็บน้ำได้
บริเวณนี้เคยแผ่นดินไหวขนาด 5.9 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 และทำให้เกิดรอยแยกของแผ่นดินเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อความไม่ประมาท ทางที่ดีที่สุดก็คือ เขื่อนทั้ง 3 แห่ง ควรจัดทำแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม ให้กับคนท้ายเขื่อน โดยเฉพาะคนในตัวเมืองกาญจนบุรี กันไว้ก่อน ดีกว่าแก้ครับ