“องค์กรต้านโกง” เปิดวงจรคอร์รัปชัน เกาะกินก่อสร้างภาครัฐ แนะรื้อระบบ-กติกา จูงใจเอกชนแข่งเสรี

มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดตัวละครเกาะกินวงการก่อสร้างภาครัฐ

“องค์กรต้านโกง” เปิดวงจรคอร์รัปชัน เกาะกินก่อสร้างภาครัฐ แนะรื้อระบบ-กติกา จูงใจเอกชนแข่งเสรี – Top News รายงาน

องค์กรต้านโกง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่บทความเรื่อง ตึก สตง.ถล่ม: ภาพสะท้อนวงจรคอร์รัปชันในงานก่อสร้างภาครัฐ บนเพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มีเนื้อหาว่า งานก่อสร้างภาครัฐมูลค่า 7.8 แสนล้านบาทต่อปี ประเมินว่าถูกคอร์รัปชันไปราว 2 แสนล้านบาท ผ่านการล็อกสเปก ฮั้วประมูล ลดงาน ลดคุณภาพวัสดุและอีกสารพัดกลโกง ทั้ง 2.3 แสนโครงการ ที่รัฐลงทุนไปนั้นล้วนตกอยู่ในวงจรคอร์รัปชันแทบไม่ต่างกัน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

บทความนี้จะอธิบายถึง “ตัวละคร” ที่เกาะกินวงการก่อสร้างภาครัฐ จนหลายโครงการสร้างไม่เสร็จ หรือปล่อยทิ้งร้าง ไม่ต่างจากอาคาร สตง. ที่ถล่มลงมา ดังนี้

1.บริษัทออกแบบ

 

มีรายได้จากค่าจ้างออกแบบ และโดยทั่วไปเขายังเป็นผู้กำหนดสเปกสินค้าเป็นการเฉพาะอย่าง ทั้งวัสดุก่อสร้าง – ตกแต่ง อุปกรณ์เครื่องใช้ ฯลฯ ทำให้ได้ค่าตอบแทนหรือคอมมิชชั่นจากผู้จำหน่ายสินค้าเหล่านั้น เช่น ผนังอาคารกระจก (Curtain Wall) มูลค่างานนับร้อยล้าน งานประตูหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แสงเสียง และวัสดุงานระบบต่างๆ เป็นต้น

การคัดเลือกบริษัทออกแบบโดยทั่วไปใช้วิธีประกวดแบบ จึงมักต้องวิ่งเต้นผู้มีอำนาจในหน่วยงาน โดยจ่ายเป็นเงินใต้โต๊ะ หรือยอมทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เช่น เขียนเงื่อนไขล็อคสเปกให้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ผู้มีอำนาจต้องการ หรือประเมินราคากลางสูงเกินจริง 20 – 30% เพื่อนำมาเป็นเงินทอน หรือวางสเปกสินค้าราคาแพงบางอย่างจากผู้จำหน่ายที่เจาะจงไว้

2.บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง

นอกจากได้ค่าจ้างตามสัญญาแล้ว ยังมีรายได้เพิ่มจากเบี้ยเลี้ยง/ค่าโอที ที่การเรียกเก็บจากบรรดาผู้รับเหมาในโครงการ บริษัทควบคุมงานฯ ที่ไม่ซื่อสัตย์ จะลดจำนวนวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่คุมงานจริง ลดการเก็บวัสดุก่อสร้างไปทดสอบคุณสมบัติให้น้อยครั้งกว่าที่กำหนดในสัญญาจ้าง บางรายใจกล้ามากก็สมรู้ร่วมคิดกับผู้รับเหมายอมให้ลดงาน ลดสเปก

โดยทั่วไปพบว่า บริษัทออกแบบมักเป็นพวกเดียวกันกับบริษัทควบคุมงาน

3.บริษัทรับเหมาก่อสร้าง

ผู้รับเหมามีทั้งที่ชนะการประมูลงานโดยสุจริตและพวกที่ล็อกสเปก/ฮั้วประมูลเข้ามา ผู้รับเหมาที่ดีจะทำกำไรจากความสามารถในการบริหารจัดการก่อสร้าง

ส่วนผู้รับเหมาที่คดโกงจะกอบโกยจากผลพวงการฮั้วประมูลที่กำหนดราคากลางไว้สูงมาก ทำกำไรเพิ่มจากการลดสเปก ลดคุณภาพงาน รวมทั้งวิ่งเต้นให้มีการแก้แบบ ลดปริมาณงาน เพิ่มงาน หรือยกเลิกงานบางส่วนแล้วออกแบบใหม่ หากงานส่วนนั้นตนได้กำไรน้อยหรือขาดทุน

4.ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยราชการนั้นเอง

หากผู้บริหารระดับสูงต้องการมีผลประโยชน์จากงานก่อสร้าง จะเริ่มจากบงการการกำหนดรูปแบบโครงการ แต่หากโครงการเดินหน้าไปแล้วก็อาจสั่งเปลี่ยนแปลง โยกย้ายสถานที่ เพื่อให้มีการแก้ไขหรือเขียนโครงการใหม่ส่งผลให้เรื่องกลับมาอยู่ในเกมอำนาจของตน

เมื่อเริ่มโครงการก็จะแอบชักใยอยู่เบื้องหลัง ยืมมือผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมา เพื่อคอร์รัปชันในโครงการ ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีที่อันตรายที่สุดและทำให้ราชการเสียประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพวกเขายอมให้เอกชนเขียนเงื่อนไขสัญญาที่รัฐเสียเสียเปรียบหรือต้องจ่ายค่าโง่ในอนาคต

5.เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน

โดยปรกติหน่วยงานเจ้าของโครงการจะแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจการจ้าง” บางกรณีมีเจ้าหน้าที่ควบคุมงานประจำโครงการ คนเหล่านี้คือตัวแทนของหน่วยงานในการรักษาผลประโยชน์ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขากลับไปรีดไถผู้รับเหมาเป็นเงินก้อน พาไปเลี้ยงอาหารเที่ยวสถานบันเทิง จ่ายค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตรวจงาน ฯลฯ
สินบนที่กล่าวมาคือต้นทุนการก่อสร้างที่ผู้รับเหมารู้อยู่แล้วว่าต้องจ่าย แลกกับความสะดวกหรือสมคบคิดกันทำสิ่งไม่ถูกต้องบางอย่าง แต่หากเป็นโครงการที่มีกำไรน้อย ผู้รับเหมาอาจตกในภาวะจำยอมหรือต้องบ่ายเบี่ยง เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งหรือดึงเรื่องเมื่อตรวจรับงาน ขอเบิกเงินค่างวด ผู้รับเหมาหลายรายทนการรีดไถไม่ไหวอาจถึงขั้นต้องทิ้งงาน

 

 

บทสรุป

นอกจากที่กล่าวมา หลายโครงการยังต้องเผชิญการชักเปอร์เซ็นต์จาก “นายหน้าขายงาน” และ “ขบวนการจัดฮั้วประมูล” โดยรวมทิศทางการพัฒนาการใช้จ่ายของรัฐ กระบวนการจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างฯ และการติดตามประเมินความคุ้มค่า ยังมีข้อจำกัดมาก สิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงคือ

1.เร่งรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้มีกติกาเปิดกว้าง จูงใจให้เอกชนเข้าแข่งขันมากขึ้น สนับสนุนการแข่งขันเสรี เปิดให้รัฐมีทางเลือกมากขึ้น มีโอกาสเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของรัฐมากกว่าเน้นราคาถูก ลงโทษเอกชนทุกรายที่ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้รัฐเสียหาย ฯลฯ

2.เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม เริ่มจากการใช้ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ อย่างเข้มข้น จริงจัง

3.ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบ เช่น ระบบ GPS และ Ai เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"แกนนำภูมิใจไทย" ผนึกกำลังหาเสียง หนุน "ไสว" ชิงเก้าอี้ เลือกตั้งซ่อมสส.นครศรีฯ มั่นใจผลงานพรรค
"ดีเอสไอ" จ่อเรียกสอบ 40 วิศวกร คดีตึกสตง.ถล่ม
"ฉก.ลาดหญ้า" ยันเหตุปะทะในประเทศเมียนมา ยังไม่มีผลกระทบชายแดนไทย
บางจาก ศรีราชา และ GISTDA ผนึกกำลังกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ร่วมสร้างอนาคต นกกาฮัง และ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
“กรมอุตุฯ” เตือนรับมือ "พายุฤดูร้อน" ฉบับ 2 ถล่มไทยตอนบน 26 เม.ย.- 1 พ.ค.นี้
“ดร.เฉลิมชัย” ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษา สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงกร่อยเค็ม ตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด แก้ปัญหาให้ประชาชน 15 หมู่บ้าน กว่า 7,200 คน มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี
"ผอ.สปภ." เผย ตึกสตง.ถล่ม ลดซากเหลือ 7 เมตร จนท.ตัดเหล็กขนย้ายได้เร็วขึ้น คาดเสร็จสิ้นเดือนเม.ย.นี้
แฉกลโกงออนไลน์! ใช้ชื่อ ‘ธนินท์’ ลวงซ้ำ – ซีพีเอาผิดไม่เว้น
DITP โชว์ผลงานจัดกิจกรรมส่งออก 7 เดือน สร้างรายได้เข้าประเทศ 36,921 ล้าน ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ 42,409 ราย
"กระทรวงยุติธรรม" เปิดตัวโครงการ "รวมพลังอาสาสมัครราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม"

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น