ชนวนของเหตุการณ์ เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2519 ขณะที่ ‘ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย’ จัดอภิปรายที่บริเวณสนามหลวง เพื่อคัดค้านการกลับมาของ ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมทั้งเรื่องการสังหารโหดช่างไฟฟ้า 2 คน ที่จังหวัดนครปฐม ส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการรับพระราชทานปริญญาบัตรของนักศึกษา
หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศหยุดเรียนเพื่อมาร่วมการประท้วง และนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุมนุมอภิปรายที่สนามหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ ขณะที่นายวัฒนา เขียววิมล ผู้นำนวพล ประกาศชุมนุมที่บริเวณสนามชัย ส่วนนายกสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ประกาศเลื่อนการสอบไล่ประจำปี
ช่วงบ่ายของ วันที่ 4 ตุลาคม ชมรมศิลปการแสดงของธรรมศาสตร์ จัดแสดงละครรำลึกถึงเหตุการณ์ สังหารโหดช่างไฟฟ้า 2 คน ทำให้ นางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ด้วยปมเหตุที่ว่า การแสดงละครดังกล่าว เป็นการล้อเลียนการแขวนคอบุคคลที่มีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กระทั่งคืนวันที่ 5 ตุลาคม ถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม กำลังฝ่ายต่อต้านนักศึกษา ได้เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณท้องสนามหลวง ช่วงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้เริ่มมีการปะทะกันด้วยอาวุธปืนเบา แล้วเข้าโจมตีกลุ่มนักศึกษา พร้อมตอกย้ำความรุนแรงด้วยการที่ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งอนุญาตให้ยิงนักศึกษาได้อย่างเสรี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย จากนั้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูป เข้ายึดอำนาจการปกครองจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยยอดผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 4,287 คน
หลาย10 ปีผ่านไป นายอภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงละครที่จำลองการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า ที่ถูกสื่อฝ่ายขวาปั่นจนเกิดการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลา 2519 ได้ออกมาเล่าย้อนความทรงจำในครั้งนั้น
“ผมอยู่ในกิจกรรมนักศึกษาประเภทที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นกิจกรรมการแสดง แต่ว่าคนทำกิจกรรมในธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความเห็นทางการเมืองเป็นเนื้อเดียวกัน ก็คือกระแสของธรรมศาสตร์ที่มีคติว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ทางเดียวกันก็คือยืนอยู่ข้างประชาชน”
“อภินันท์” เริ่มเล่าเหตุการณ์ ที่ชักนำไปสู่การแสดงละครในวันนั้น ชมรมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ได้รับมติจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อชักนำนักศึกษาส่วนใหญ่มาร่วมกิจกรรมชุมนุมต่อต้านการกลับมาของพระถนอม จึงมีการคิดกันว่า จะสร้างละคร street theatre ละครกลางถนนขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เรียกร้องเชิญชวน ยิงเข้าไปในจิตใจของคนดูว่าเราจะต้องมาเข้าร่วมชุมนุมกัน และตัวเค้าเองก็เป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของการถูกแขวนคอ
ข่าวเรื่องการเล่นละครแขวนคอถูกเผยแพร่ก่อนที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จากนั้นภาพ “อภินันท์” ที่ถูกแขวนคอ ถูกนำไปใส่สีตีไข่และดัดแปลงภาพรวมถึงเนื้อข่าวลงในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม กรอบบ่ายวันที่ 5 ต.ค. ในลักษณะภาพและมุมที่ “เหมือนเจ้าฟ้าชาย”… ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีข่าวลือว่านักศึกษาจับเจ้าฟ้าชายไปแขวนคอ นักศึกษาเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดทำให้ประชาชนสับสนมาก ก่อให้เกิดการสร้างกระแสจากวิทยุหลายๆสถานี ก็ปลุกระดมกันใหญ่เลยว่านักศึกษามันอาฆาตมาดร้าย มีเจตนาโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
“อภินันท์” รีบเดินทางจากบ้าน กลับมายัง มธ. ในวันที่ 5 ต.ค. หลังได้ข่าวเรื่องการแสดงละครผ่านทางวิทยุ ซึ่งในช่วงที่เขาเดินทางมาถึง มธ. กลุ่มฝูงชนก็ล้อม มธ. เอาไว้แล้ว ทำให้ “อภินันท์” ผู้มีหน้าแปะหราอยู่บนหนังสือพิมพ์ดาวสยามต้องเดินฝ่าม็อบเข้าไปในมหาวิทยาลัย แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ นอกจากไม่มีใครในม็อบที่คุ้นหน้าเขาแล้ว อภินันท์ เองยังไม่คุ้นหน้าตัวเองในหนังสือพิมพ์ด้วย
“อภินันท์” และเพื่อนพบกับการดำเนินคดีสารพัดข้อหา ทั้งบุกรุกสถานที่ราชการ ฆ่าและพยายามฆ่าประชาชน เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย วางเพลิง เป็นคอมมิวนิสต์ กบฏในราชอาณาจักร แต่มีอภินันท์ และเพื่อนนักแสดงรวม 4 คนเท่านั้นที่มีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพติดตัว
“ตอนเข้าคุกไป ผมรู้สึกว่ามันก็โกรธแค้นนะ เพราะอยู่ดีๆ เราถูกลากเข้าไปเป็นตัวการทำให้เกิดการล้อมปราบ ทำให้เกิดการฆ่า ทำให้เกิดการทำร้าย ทำให้เกิดคนตายเยอะแยะมากมาย มันเสียใจส่วนหนึ่ง แค้นส่วนหนึ่ง ทำไมเรากลายเป็นเหยื่อที่ไปทำให้คนอื่นเขาตาย จิตใจสับสนวุ่นวายไปมากทีเดียว ติดคุกแรกๆ ร้องไห้แทบทุกวัน รู้สึกเสียใจ แต่พวกเราก็ปลอบใจกันเองและก็ได้เรียนรู้เรื่องการเมือง เหตุผลการต่อสู้ในทางการเมืองกันไป”
“อภินันท์” เล่าทิ้งท้ายว่า “ละครเรื่องนั้นไม่ได้ผิดอะไรเลยนะ ถ้าย้อนกลับไปก็จะเล่น แต่คนที่เอาละครเรื่องนี้มาใช้เพื่อที่จะทำลายนักศึกษา จนกลายเป็นชนวนเหตุการณ์รุนแรง ไอ้คนนี้คือคนผิดอย่างแท้จริง ตัวเองรู้ทั้งรู้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยว ยังจับมาเกี่ยวจนได้ เพราะอาจจะสังเกตว่าไอ้หน้าคนแสดงมีส่วนคล้าย ถ้าพูด ปลุกระดม ถ้าบอกว่ามันเหมือนมันก็จะมีคนเชื่อ ไอ้คนนี้ไม่รู้ใคร ซึ่งเป็นตัวพูดคำนั้นขึ้นมาแล้วคนที่ต้องการปราบนักศึกษาก็เลยพูดตามกันยกใหญ่ มันก็เลยเกิดการล้อมปราบขึ้นมา”
เรื่องราวของ “นักแสดงอาสา” ที่วันนี้อายุ 63 ปีแล้ว เค้าขอให้ 6 ตุลา 2519 กลายเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยให้นึกถึงวันที่คนไทยฆ่ากันเองจากการสุมไฟเกลียดชัง และการสื่อสารทีผิดเพี้ยน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ประชาไท