จากกรณีองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ WADA ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฏของวาดา ที่ต้องการให้แยกหน่วยงานตรวจสารกระตุ้นเป็นอิสระ ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีป หรือระดับโลก
ล่าสุด วันนี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กรณีของไทยแตกต่างจากกรณีที่รัสเซีย, เกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย ที่โดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบ และควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา แต่ไทยเรามีประเด็นสำคัญเรื่องการแก้ไขตัวบทกฏหมายพระราชบัญญัติควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 บางประการที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ของวาดา ในเรื่องบทลงโทษที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และการแยกเป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ โดยเราพยายามแก้ไขกฏหมายลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กระบวนการมีหลายขั้นตอน และละเอียดอ่อน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาของวาดา ซึ่ง กกท.ได้หารือกับรัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นปัญหาฉุกเฉิน รวมทั้งประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ติดข้อจำกัดในการแก้กฏหมายที่มีกระบวนการต่างๆ ซึ่งส่วนตัวก็เสียใจที่ไม่สามารถผลักดันกฏหมายนี้ได้ทันตามกำหนดของวาดา
ผู้ว่าฯกกท. กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะมีการออกกฏหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฏหมาย โดยวางกรอบเวลาภายใน 3-4 เดือน ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา มีตนเองคอยดูแลในการรายงานความคืบหน้าให้กับวาดา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และรัฐบาลได้รับทราบ รวมทั้งจะประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งนี้ยืนยันว่าจะทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้ไทยกลับมาเชิดหน้าชูตาในเวทีกีฬาโลก ส่วนการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ในปีหน้า จะไม่มีผลกระทบ เพราะจะแก้ไขปัญหาเสร็จก่อน ซึ่งถ้ากฏหมายเสร็จสิ้นแล้ว จัดแข่งขันต่างๆได้ต่อเนื่องทันที ยกเว้นในส่วนของการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินหรือบุคลากรในสหพันธ์กีฬาต่าง ๆ จะต้องดูข้อบังคับอีกครั้ง เพราะตามกำหนดเราต้องโดนลงโทษ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ส่วนการแยกออกเป็นองกรค์อิสระนั้น ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของ กกท. ซึ่งเราก็ขอเวลากับวาดาในการจัดการเรื่องนี้ ที่จะต้องจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ และก็ดูในเรื่องบุคคลากร และเงินสนับสนุนต่อไป
สำหรับผลกระทบในตอนนี้คือ 1.ประเทศไทยจะไม่สามารถขอทุนจากวาดาได้ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยปฏิบัติข้อนี้อยู่แล้ว 2.คนไทยที่เป็นกรรมการ หรือนั่งอยู่ในสหพันธ์ต่าง ๆ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยไม่สามารถร่วมโหวต และถูกห้ามทำหน้าที่ จนกว่าจะมีการแก้ไข 3.การจัดการแข่งขันนานาชาติ ในช่วงที่ยังแก้ไขไม่ทัน ไทยจะไม่สามารถจัดการแข่งระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับชิงแชมป์โลกได้ แต่การแข่งขันที่มีการเสนอจัดไปแล้ว อาทิ เอเชีย โรด เรซซิ่ง ซึ่งถือเป็นกีฬาอาชีพ จะไม่มีผลกระทบ 1.ประเทศไทยจะไม่สามารถใช้ธงชาติในการแข่งขันกีฬาระดับทวีป ภูมิภาค และรายการชิงแชมป์โลกต่าง ๆ เป็นเวลา 1ปี ส่วนการแข่งขันโอลิมปิก พาราลิมปิก ไทยจะได้ยกเว้น