หลังจากที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นข้อมูลเบาะแส หลักฐานขององค์กรผู้บริโภคที่ขอจัดตั้งกับนายทะเบียนประจำจังหวัด โดยยื่นเอกสาร ข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่มีลักษณะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 เบื้องต้นจำนวน 4 องค์กร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นั้น
ต่อมา นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายทะเบียนกลาง ได้เปิดเผยกับท็อปนิวส์ ว่า ตามพ.ร.บ.สภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 นั้น เป็นเพียงนายทะเบียนที่ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นส่วนการบริหารจัดการภายในองค์กรของผู้บริโภคไม่สามารถไปก้าวล่วงได้เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีอิสระ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของนายทะเบียนจังหวัดที่ได้รับการรายงานมาครบทุกจังหวัดแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบซ้ำเพื่อให้เกิดความถูกต้อง
เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการจัดตั้งองค์กรไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ฯ แต่ทางปลัดสำนักนายกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจสั่งการให้เร่งทำการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนครบถ้วนถูกต้องและรายงานขึ้นมาทันทีและหากพบว่ามีการกระทำความผิดแจ้งข้อมูลองค์กรเป็นเท็จก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายเท่าที่จะทำได้คือมีอำนาจแค่เพียงเพิกถอนชื่อองค์กรที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่พบว่ามีอะไรน่าหนักใจ
ล่าสุด สำนักข่าวท็อปนิวส์ ได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบองค์กรที่แจ้งจดด้วยข้อมูลเอกสารอันเป็นเท็จจำนวน 4 องค์กร อยู่ที่จังหวัดลำปาง 2 แห่งคือ 1.ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลแม่กัวะ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ ,2. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลหนองหล่ม ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร และจังหวัดลำพูนอีก 2 แห่ง คือ 1. กลุ่มพึ่งตนเองบ้านแม่ป็อก ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ , 2. กลุ่มเอ็มลี้รักสุขภาพจังหวัดลำพูน
จังหวัดลำปาง
1.ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลแม่กัวะ มีนางเพลินทิพย์ อุดใจ เป็นผู้ประสานงานหลัก จากการตรวจสอบ พบสำนักงานที่ตั้งอยู่ในบ้านปิดตายไม่มีคนอยู่ พบมีป้ายไวนิลระบุ “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลแม่กัวะ” ติดอยู่ที่รั้วบ้าน เท่านั้น สอบถามชาวบ้าน พบว่า นางเพลินทิพย์ ได้สามีอยู่ จ.เชียงราย จึงได้ย้ายไปอยู่กับสามี ส่วนบ้านหลังนี้ก็ปิดตายไว้ ไม่มีคนอยู่ นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาสักที
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายสงวน คำวรรณ์ กำนันตำบลแม่กัวะ ซึ่งบ้านตั้งอยู่ห่างจาก ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลแม่กัวะ ประมาณ 50 เมตร เล่าว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีศูนย์ดังกล่าวนี้ ปิดป้ายตั้งอยู่ที่บ้านจริง แต่พบว่าผู้นำศูนย์ไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมกับคนในชุมนุม ผู้นำไม่รู้เรื่องว่าเค้าทำอะไรอยู่ ป้ายเห็นว่ามีอยู่ แต่การดำเนินงานไม่รู้ว่า มีการทำงานอย่างไร เราไม่เคยเห็นเลย เพราะเค้าไม่เคยมีกิจกรรมและไม่เคยเชิญไปร่วม
ผมอยู่ฝ่ายปกครองมา 9 ปี ตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกำนัน ไม่เห็นทำกิจกรรมอะไร หรือเชิญผมในฐานะผู้นำท้องถิ่นให้ไปร่วมเลย กลุ่มเขาก็มีคณะทำงานครบ แต่ไม่เห็นทำอะไร เห็นแต่ขึ้นป้ายว่าเป็นศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคตำบลแม่กัวะ ซึ่งเค้าทำอะไรก็ไม่เคยปรึกษาเราเลย ซึ่งกลุ่มอื่นๆ ทำอะไรมาปรึกษาเราหมด แต่กลุ่มนี้ไม่มีว่าทำอะไรเลย คนนี้เขาเป็นคนพื้นเพในหมู่บ้าน เมื่อ 5 ปีมานี้ เขาได้แฟนอยู่จ.เชียงใหม่ ก็ไม่เห็นหน้าเลย นานๆมาครั้ง พอเขาไม่ค่อยอยู่ ก็จะเกิดปัญหา การทำงานในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ก็มีปัญหา เพราะเขาไม่ค่อยอยู่ เวลาจะทำกิจกรรมอะไร ก็มีปัญหา เพราะเขาไม่ได้ปรึกษาเรา หรือให้เรารับรู้เลยว่าเขาทำอะไรบ้าง ชาวบ้านก็เห็นแต่ป้ายนั่นแหละ แต่ไม่รู้ว่ามีกิจกรรมอะไรและทำอะไรบ้าง
2. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลหนองหล่ม ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พบข้อมูลว่า รายชื่อคณะกรรมการที่ศูนย์นี้ ได้ยื่นแจ้งจดกับนายทะเบียนจังหวัดลำปาง พบว่า นายเจริญ วงศ์ทอง ตำแหน่ง รองประธานองค์กร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขัดต่อ พรบ.การจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค ม.5(1)
จังหวัดลำพูน
3.กลุ่มพึ่งตนเองบ้านแม่ป๊อก มีนายมานัส เมธา เป็นกรรมการ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่6 และกำนันตำบลศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน
4.กลุ่มเอ็มลี้รักสุขภาพ จังหวัดลำพูน มีนายสุขสวัฏดิ์ นันศ์ป้อม เป็นกรรมการ ปัจจุบันเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจของเทศบาลตำบลก้อ ซึ่งทั้ง 2 องค์กรจึงอาจไม่เป็นไปตามลักษณะการจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค
มาตรา 5 องค์กรของผู้บริโภคที่จะรวมตัวกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำ โดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง
จากข้อมูลข้างต้น หาก สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี วินิจฉัยองค์กรผู้บริโภคเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ที่ร่วมจัดตั้งย่อมเข้าข่าย “แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่รัฐ” ตาม ป.อ.มาตรา 137 ที่บัญญัติไว้ความว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าสปน. จะคำวินิจฉัยสภาองค์กรของผู้บริโภค นี้อย่างไร เพราะเมื่อองค์กรลูกผิดกฎหมาย การรวมตัวจัดตั้ง 150 องค์กร จัดตั้งองค์กรแม่ก็ไม่ถูกต้องชอบธรรม จะปล่อยให้องค์กรแบบนี้มาใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินกว่า 350 ล้านบาทต่อไปได้อย่างไร