ตามต่อเนื่องประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากรฟม.เริ่มนับหนึ่ง การประมูลรอบใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนรับฟังความเห็นภาคเอกชน ทั้ง ๆ กระบวนการเหล่านี้เคยผ่านทุกความเห็นชอบ และทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ไปแล้วเกือบหนึ่งปี จนถึงขั้นจะได้ชื่อบริษัทเอกชนดำเนินโครงการแล้ว เพราะตามแผนเดิม รฟม. มีกำหนดให้บริษัทเอกชน ทั้ง 10 ราย ที่ซื้อซองประกวดราคา ยื่นเอกสารในวันที่ 23 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในภาพรวมของประเด็นที่เกิดขึ้น นอกจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีเรื่องฟ้องร้องในศาลปกครอง และดีเอสไอ อีกหนึ่งคดีความที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญา ก็คือ การที่ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและเดินรถไฟฟ้า BTS ได้ยื่นฟ้อง ผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
ซึ่งทางด้าน สำนักข่าวอิศรา ได้มีการขยายความสำนวนคำฟ้องคดีดังกล่าว เพิ่มเติมว่า เป็นการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประกอบด้วย
1.นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นจำเลยที่ 1
2.นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นจำเลยที่ 2
3.นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 3
4.นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 4
5.นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผอ.สคร.) กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 5
6.นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 6
7.นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่านพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 7
ขณะที่คำบรรยายฟ้องคดีดังกล่าว สรุปโดยย่อมีใจความสำคัญ กล่าวถึง พฤติการณ์ของผู้บริหารรฟม. ที่ส่อให้เห็นความไม่ปกติในขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนเอกชน ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2562 โดยการพิจารณาข้อเสนอจะพิจารณาทีละซองข้อเสนอตามลำดับ คือ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ เมื่อพิจารณาซองแต่ละลำดับผ่านแล้ว จึงจะได้รับสิทธิในการพิจารณาซองถัดไป
จนมาถึงการรื้อ แก้ไข ทีโออาร์ การประมูลโครงการ โดยเปลี่ยนแปลงเป็น ให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิคและการลงทุนและผลตอบแทนร่วมกัน โดยคะแนนเทคนิคมีสัดส่วน 30 คะแนน และการลงทุนและผลตอบแทนในสัดส่วน 70 คะแนน ทั้ง ๆ ที่ ในวันที่ 9 พ.ย.2563 BTSC ร่วมกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และบมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ ในนามกิจการร่วมค้า BSR ได้เข้ายื่นข้อเสนอฯ ตามขั้นตอนกำหนด
แต่ผู้บริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับบ่ายเบี่ยงไม่เปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นซอง โดยอ้างว่าต้องรอคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และปรากฏว่า ในวันที่ 3 ก.พ.2564 ผู้ว่าฯรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติยกเลิกการประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.2563
ซึ่งกระบวนทั้งหมด BTSC เห็นว่าการกระทำที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการอนุมัติตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอ คือ รัฐต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด (NPV ต่ำสุด) จะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก และเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกและประกาศใช้แล้ว
นอกจากนี้ จำเลยทั้งหมดยังได้ออกคำสั่งและมีมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว อาทิ
เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 (นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ) ในฐานะผู้ว่าการ รฟม. และเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 (นายกิตติกร ตันเปาว์) และจำเลยที่ 7 (นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี) ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 7 ร่วมประชุมแก้ไขหลักเกณฑ์ในการประเมินข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่ ทั้ง ๆ ที่ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ
ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ยังได้ให้มีการนำข้อเรียกร้องของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสำหรับการคัดเลือกเอกชน ทั้งที่ทราบดีแล้วว่า ตนเองในฐานะผู้ว่าการ รฟม. ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องของเอกชนรายนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ
ส่วนจำเลยที่ 2-7 ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ ล้วนทราบดีว่า ข้อเรียกร้องขอเอกชนรายนี้ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ รฟม. หน่วยงานเจ้าของโครงการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว
นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอง ในฐานะผู้ว่าการ รฟม. เข้ากำกับ ควบคุม รฟม. ชี้นำคณะกรรมการคัดเลือกฯให้ลงมติแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ และออกคำสั่งให้นำมติดังกล่าวบังคับใช้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกเอกชนฯ ขณะที่หลักเกณฑ์การประเมินใหม่ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่งรายใดที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิคในการก่อสร้างทางลอดใต้ดินและลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยคดีดังกล่าวศาลฯนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องนัดแรก หรือคำพิพากษาในวันที่ 15 มี.ค.2564 นี้เวลา 9.30 น.
เรื่องฉาวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่กลายเป็นคดีอาญา จากการฟ้องร้องเอาผิดผู้บริหารรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่จบเท่านั้น ในเวทีสาธารณะ ประเด็นนี้ต้องถือว่าเป็นประเด็นร้อนที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมากที่สุด ถ้านับจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2554 ถึงช่วงต้นปี 2557
ตั้งแต่ “วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานกก.บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง มีการโพสต์ข้อความในหัวข้อ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม : เอกชนซื้อซอง TOR แล้ว ภาครัฐเปลี่ยนเงื่อนไขใน TOR ได้ด้วยหรือ?” ชี้ประเด็นไว้ว่า
1.กรณีรถไฟสายสีส้ม เอกชนที่อยากจะได้งานก็ต้องไปซื้อ TOR เพื่อนำมาพิจารณาดูว่าตัวเขานั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนไหม ทำตาม TOR ได้ไหม รวมถึงพิจารณาว่าเงื่อนไขต่างๆ ใน TOR มันคุ้มค่าแก่การเสนอตัวเข้าประกวดหรือไม่ ดังนั้น TOR จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้รับจ้างได้ศึกษาดูก่อนว่างานตามประกาศสามารถทำได้
แต่เมื่อเอกชนจำนวนหนึ่งไปซื้อ TOR แล้วทำโครงการเสนอตัวเข้าประกวด ปรากฏว่า รฟม.เปลี่ยนใจกลางอากาศ ด้วยการมีมติเมื่อ 21 สค 2563 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) ทั้งที่มีการซื้อขายซองประกวดราคาเสร็จสิ้นไปแล้ว 10 บริษัท เนื่องจากมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งซึ่งยื่ซองประมูลได้ขอให้ รฟม. เปลี่ยนแปลง TOR
และคณะกรรมการฯ ทั้งชุด ที่ดูแลเรื่องการแข่งขันนี้ก็ใจดี ไปยอมรับข้อเสนอ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข (ยกเว้นกรรมการที่เป็นสุภาพสตรีรายหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง TOR กลางอากาศ)
ประเด็นสำคัญ ที่ต้องรับทราบกัน ก็คือ เงื่อนไขใน TOR นั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเองได้ นี่จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจมีการทุจริตเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายหนึ่ง (หากจะล็อคสเปคก็ควรทำก่อนขาย TOR ให้เอกชนสิ !)
อะไรทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับหลังหัน 180 องศา โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์ TOR ที่กำหนด แต่จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่มาแก้ไขหลังปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว
กรณีนี้ พี่ศรีสุวรรณท่านได้ร้องเรียนไปยัง DSI แล้ว และระบุว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายหลายฉบับและหลายมาตรา
ที่ประหลาดคือแม้จะมีคำสั่งศาลปกครองกลาง มีเสียงทักท้วงจาก องค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และพี่ศรีสุวรรณ ให้ คกก.คัดเลือกฯ กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่ รฟม.ก็ยังคงเดินหน้าอุทธรณ์ต่อโดยหวังว่าจะสามารถใช้หลักเกณฑ์ใหม่ได้
จึงน่าสงสัยว่ามีความพยายามเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ การเดินหน้าไปในหนทางที่ไม่น่าจะชอบธรรมโดยไม่สนใจกฏ กติกา มารยาท และความถูกต้องชอบธรรมแบบนี้ มันจะไหวไหม
กรณีเปลี่ยน TOR แบบนี้ ไม่ว่า รฟม. จะออกมาประชาสัมพันธ์ไปในประเด็นอื่นอย่างไร ก็ไม่พ้นเป็นที่สงสัยแก่สาธารณชนว่าท่านน่าจะเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย
2.สุดท้ายใครจะรับผิดชอบ เรื่องอย่างนี้ ไม่เฉพาะ รฟม. กับ คกก.คัดเลือก ที่จะต้องรับผิดชอบ เอกชนที่ขอให้เปลี่ยนเงื่อนไขโดยส่งหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอเพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกของโครงการ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย
และไม่อยากให้มีบริษัทที่ได้ชื่อว่าไร้ความสามารถจนต้องเอาเปรียบคนอื่น อย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้กลโกง ไร้ธรรมาภิบาล เพราะจะทำให้บริษัทนั้นๆ เข้าเกณฑ์ปฏิบัติ “ระงับลงทุน” (Negative List Guideline) สำหรับผู้ลงทุนสถาบันอย่าง กบข. กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ที่กำหนดไว้เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศไทยสู่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ
การที่ใครจะชนะไม่ใช่เรื่องใหญ่หากทุกคนทำตามกติกา แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าชัยชนะได้มาด้วยกลโกง หรือด้วยการซื้อตัว มันก็เป็นเรื่องอัปยศ
และมันคงจะอัปยศอย่างยิ่ง หากเรื่องแก้ไข TOR กลางอากาศแบบนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ซื่อตรงและไม่คอร์รัปชั่น
งานนี้ไม่ต้องถามหาใบเสร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข TOR หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว ก็คือใบเสร็จนั่นเอง
หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม เราจะอยู่ในประเทศนี้อย่างสงบสุขได้อย่างไร … มันคงยากที่คนดีๆ ที่ให้ความร่วมมือแก่ส่วนรวม และหวังจะได้รับความยุติธรรม จะทำใจได้
อีกบุคคลสำคัญที่ให้ความเห็นถึงความฉาวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายใต้การกำกับดูแลของรฟม. ก็คือ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งและจราจร โพสต์ถึงกรณีนี้ว่า ถึงแม้ว่า รฟม. จะประกาศขอรับฟังความคิดเห็นของเอกชน ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในการประมูลรอบ 2 โดยใช้เกณฑ์ใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้แต่คงไม่ง่ายที่ รฟม.จะใช้เกณฑ์ใหม่ได้ตามปรารถนา เพราะมีการดำเนินการทางกฎหมายแบบต้องเกาะติด อย่ากะพริบตา
ด้วยเหตุผลหลัก ๆ อาทิ
1.กรณีนี้ BTSC ผู้ซื้อซองประมูลได้ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น รวมถึงศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษาตอนหนึ่งด้วยว่า การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
2.กรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ล้มประมูล โดย รฟม.อ้างว่าถ้ารอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงมา จะทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า แต่ถ้าหากศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้นทันที เพราะรฟม.เปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่ในการประมูล
3.ถ้าการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลถูกวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลทางคดีจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย และส่งผลกระทบไปถึงความก้าวหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอาจจะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไปอีกหลายปี
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการให้ รฟม.ใช้เกณฑ์เดิมซึ่งมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว จะทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง
ซึ่งก่อนหน้า ดร.สามารถ ได้เน้นย้ำแล้วว่าส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการรื้อ แก้ไข ทีโออาร์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะ
1. การที่รฟม.อ้างว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นผลให้ รฟม.ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แต่เกณฑ์ใหม่ให้คะแนนด้านเทคนิคเพียงแค่ 30% เท่านั้น ถือว่าย้อนแย้งกับเหตุผลที่ รฟม.กล่าวอ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์เดิมที่ให้คะแนนด้านเทคนิค 100% ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการของ รฟม.ซึ่งมุ่งหวังจะได้เอกชนที่เก่งด้านเทคนิค
2. รฟม.เคยมีประสบการณ์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่มีเส้นทางผ่านพื้นที่ซับซ้อนมาก่อนแล้ว เช่น ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โดย รฟม.ตั้งคะแนนสอบผ่านด้านเทคนิคไว้เพียง 70% เท่านั้น และไม่ได้พิจารณาซองเทคนิคพร้อมกับซองผลตอบแทน แต่ รฟม.ก็สามารถคัดเลือกเอกชนที่มีความสามารถทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้สำเร็จไปด้วยดี และได้เปิดใช้ไปแล้วเมื่อปี 2562 นั่นแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกโดยพิจารณาซองเทคนิคแยกจากซองผลตอบแทนทำให้ รฟม.ได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง สามารถทำการก่อสร้างงานที่มีความยุงยากซับซ้อนได้ดี
3. รฟม.เคยพิจารณาซองเทคนิคพร้อมกับซองผลตอบแทนในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งเป็นเวลากว่า 20ปีแล้ว แต่หลังจากนั้น รฟม.เลิกใช้เกณฑ์นี้ เพราะต้องการเพิ่มความสำคัญให้กับความสามารถด้านเทคนิค ด้วยเหตุนี้ การประมูลรถไฟฟ้าในระยะหลัง รฟม.จึงใช้เกณฑ์การพิจารณาซองเทคนิคแยกจากซองผลตอบแทน โดยพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงพิจารณาซองผลตอบแทนต่อไป ไม่ใช่เฉพาะ รฟม.เท่านั้นที่พิจารณาซองเทคนิคแยกจากซองผลตอบแทน แต่หน่วยงานอื่นก็ใช้เช่นกัน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น
ที่สำคัญเกณฑ์เดิมให้ความสำคัญต่อด้านเทคนิคถึง 100% และให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนถึง 100% เช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.สูงที่สุดด้วย
จึงน่าคิดว่าอะไรทำให้ รฟม.ไม่สนเสียงทักท้วง และไม่รอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของ รฟม.หลังจากถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม.ใช้เกณฑ์ใหม่เป็นการชั่วคราวด้วยการชิงล้มการประมูลไปเสียก่อน และถือว่า รฟม.กล้าเสี่ยงจริงๆ ไม่ใยดีแม้มีตัวอย่างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกจากการแก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคา เพราะถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน!???