การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มสามนิ้วมีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การชุมนุมถูกปรับยุทธวิธีจากเดิมที่เน้นอหิงสา มาเป็นกลุ่มติดอาวุธ เน้นใช้เยาวชนก่อเหตุความไม่สงบ จะมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
หากจะย้อนไป สำหรับเหตุการณ์การชุมนุม ที่มีข้ออ้างว่า ต่อต้านรัฐบาล ที่ยืดเยื้อมาก็เริ่มนับจาก เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2564 ที่เริ่มมีการจัด“คาร์ม็อบ” ของ บก.ลายจุด หรือ “สมบัติ บุญงามอนงค์” ซึ่งก็มีแนวร่วมกลุ่มต่าง ๆ ประกาศตนเข้าร่วมด้วย เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม , กลุ่มทะลุฟ้า และ เครือข่ายไล่ประยุทธ์
การชุมนุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา มักจะจบด้วยการปะทะกัน ระหว่าง ตำรวจควบคุมฝูงชน กับ กลุ่มผู้ชุมนุม และมีการจับกุมผู้ชุมนุม มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีการรวบตัวแกนนำ ”กลุ่มทะลุฟ้า” ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 นั่นก็คือ “ไผ่ ดาวดิน” ต่อมา ก็มีการรวมตัวชุมนุมเป็นรายวัน เหมือนเป็นการประกาศโหมโรงต่อสู้ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งในวันที่ 7 ส.ค. เจ้าหน้าที่ สามารถรวบตัวผู้ชุมนุมได้ 3 คน นำตัวส่ง สน.ดินแดง ประกอบไปด้วย นายอัศนี พูนสวัสดิ์มงคล อายุ 22 ปี ชาว กทม. , นายปริญญา สมคิด อายุ 30 ปี ชาว จ.เชียงราย , นายธานี ภู่ระหงษ์ อายุ 55 ปี ชาว กทม. และนับจากวันนั้นมา ที่เริ่มมาการชุมนุมที่แยกดินแดง เจ้าหน้าที่ สามารถจับกุมผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุได้แล้วถึง 390 คน (ยอดสิ้นสุด 29 ก.ย.64) แบ่งเป็น ชาย 324 คน หญิง 66 คน , เยาวชน 134 คน แบ่งเป็น ชาย 110 คน หญิง 24 คน, ผู้ใหญ่ 256 คน แบ่งเป็น ชาย 214 คน หญิง 42 คน
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมต่างด้าวที่เข้าร่วมการชุมนุมได้จำนวนไม่น้อย บางคนอายุเพียงแค่ 18 ปี ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มคนต่างด้าวเหล่านี้ มีความรักประเทศไทยขนาดนั้นเลยหรือ แล้วเข้าใจระบอบประชาธิปไตยประเทศไทยมากเพียงใด ถึงได้เข้ามาร่วมการชุมนุมที่หวังผลขับไล่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะเดียวกัน ยังมีการเปิดเผยรายชื่อ กลุ่มต่างด้าว ที่ถูกจับกุมออกมาอีกด้วย คือ นายเทีย โซ๊ะ อายุ 18 ปี สัญชาติกัมพูชา , นายปัญญา ไม่ทราบนามสกุลจริง สัญชาติกัมพูชา อายุ 47 ปี , นายวิชัย สังข์ทอง อายุ 30 ปี สัญชาติกัมพูชา และ น.ส.ฮวด ชีนดา อายุ 53 ปี สัญชาติกัมพูชา
เมื่อมองต่างด้าวทั้ง 4 คน ที่ถูกจับกุมตัวได้ ทำให้เกิดคำถามต่าง ๆ มากมายว่า พวกเขามาชุมนุมด้วยความสมัครใจ หรือ ถูกใครจ้างมากันแน่ และหากลองคิดวิเคราะห์ การมาร่วมชุมนุม มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับกุม เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายห้ามไว้ ฉะนั้น อดคิดไม่ได้ว่า การที่ต่างด้าวเอาตัวเองมาเสี่ยงแบบนี้ ต้องได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าจะเสี่ยงอย่างแน่นอน
อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับข้อมูลของ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ในฐานะ รองแม่ทัพนครบาล ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถสืบสวนสอบสวนจนได้ชื่อ ผู้ว่าจ้าง และเส้นทางการเงิน จนรวบรวพยานหลักฐาน เพื่อเตรียมออกหมายจับ พบว่า คนที่มาประจำ จะได้เงินประมาณ 2,000 – 3,000 บาท หากเปิดเผยชื่อ ทุกคนจะรู้จัก แต่ขอสงวนไว้ก่อน
ฉะนั้น การตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มต่างด้าวที่เข้าร่วมชุมนุม จะเป็นสิ่งการันตีข้อเท็จที่เกิดขึ้น ว่า ต่างด้าวที่ถูกจับกุมถูกจ้างวานมาร่วมม็อบหรือไม่ แล้วใครเป็นผู้บงการชักใยท่อน้ำเลี้ยงอยู่เบื้องหลังม็อบ เรื่องนี้จึงต้องฝากไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หน่วยงานหลักผู้มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลการเงิน ซึ่งจะต้องนำข้อเท็จจริงมาเปิดสู่สายตาประชาชน