วันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 24-31 ตุลาคม 2564 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช และยะลา ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน และสุราษฎร์ธานี รวม 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน 5 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง
ส่วนสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำจากอ่างเก็บขนาดใหญ่ลงสู่ลำน้ำสายหลัก ตั้งแต่วันที่ 20 – 29 ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และลพบุรี ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมทั้ง 5 จังหวัด รวม 13 อำเภอ 44 ตำบล 193 หมู่บ้าน 5,881 ครัวเรือน
ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่างและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และนครปฐม รวม 22 อำเภอ 108 ตำบล 704 หมู่บ้าน 11,903 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง
สำหรับผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” เมื่อวันที่ 23 กันยายน – 7 ตุลาคม ซึ่งทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 341,710 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 25 อำเภอ 234 ตำบล 1,177 หมู่บ้าน 75,749 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ และดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง