วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภก.กิตติ ระหงษ์ ผอ.กองการขายถาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย องค์การเภสัชกรรม และ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค แถลงการณ์ขยายผลกรณีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ตำรวจ บก.ปคบ. และ อย. ได้ทลายเครือข่ายลักลอบจำหน่ายยาฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์โดยผิดกฎหมาย โดยเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 9 คน พร้อมยึดของกลาง ยาฟาเวียร์ จำนวน 390 กล่อง
พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าหนึ่งในผู้ต้องหาที่เป็นระดับผู้จัดการของโรงพยาบาลดังกล่าว ได้ให้การซัดทอดว่า ได้ติดต่อซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จากผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล จากนั้นจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายค้นเข้าตรวจสอบที่โรงพยาบาลดังกล่าว ในวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา พบหลักฐานเป็นเอกสารในการสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม แต่ไม่พบประวัติการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด และจากการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่พบว่าโรงพยาบาลดังกล่าวมีผู้ป่วยโควิด-19 มารับการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ออกหมายเรียกให้ผู้บริหารโรงพยาบาลคนดังกล่าว ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ โดยเบื้องต้นจะดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 , พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537
ด้านพล.ต.ต.อนันต์ ฝากเตือนให้ประชาชนควรมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 เนื่องจากพบว่ามีผู้ฉวยโอกาสผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ และไม่ได้รับอนุญาต มาหลอกขายตามท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ควรเลือกซื้อจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจะดีที่สุด โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค เพื่อตำรวจจะได้เข้าดำเนินการตรวจสอบจับกุมต่อไป
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ฝากเตือนให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรม และจัดหายาให้ผู้ป่วยให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จะตรวจสอบรายงานการซื้อขายยาฟาวิพิราเวียขององค์การเภสัชกรรมพี่ขายกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อดูความผิดปกติของการขายว่ามีการรั่วไหลออกนอกระบบหรือไม่ หากพบจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ในส่วนของประชาชนยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ปัจจุบันมีจำนวนเพียงพอ จึงเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ
โดยยาของกลางดังกล่าว เล็ดลอดออกมาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยมีคนในซึ่งเป็นระดับผู้จัดการซื้อออกมาจำหน่ายเอง เอากำไรต่อเป็นทอดๆ โดยใช้ช่องทางออนไลน์ ราคาต้นทุนที่โรงพยาบาลเอกชนรับซื้อจากองค์การเภสัชกรรม อยู่ที่ราคากล่องละ 1,600 บาท จากนั้นผู้จัดการของโรงพยาบาลดังกล่าวได้ซื้อต่อมาราคากล่องละ 2,000 บาท เพื่อขายต่อ ปลายทางมีราคาพุ่งสูงขึ้น 5,000 ถึง 8,000 บาท