เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายการ “มีเรื่อง” Live EP.14 หัวข้อ “เลิก – แก้ – ไม่แตะ 112” ซึ่งออกอากาศผ่านยูทูบช่อง Jomquan เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดยน.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ได้มีการเปิดการสนทนาระหว่างนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กับนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ถึงประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังมีความพยายามจากพรรคเพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา แต่ถูกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เบรกจนสุดท้ายยอมถอยไม่เป็นตัวตั้งตัวตี ขณะที่พรรคก้าวไกลยังคงผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
ซึ่งในตอนหนึ่ง นายปิยบุตร กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในกลุ่มกฎหมายฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เห็นว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นทั้งระบบ ตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ถึงบุคคลธรรมดาควรออกจากคดีอาญาได้แล้ว เปลี่ยนมาเป็นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งแทน โดยอ้างว่าเป็นเทรนด์ของโลก และสหประชาชาติสนับสนุนยกเลิกโทษอาญาออกจากคดีหมิ่นประมาท ซึ่งมีอยู่ 44 ประเทศ เหตุผลหลักคือปรัชญากฎหมาย การจำคุกคือการเอาคนไปขังเอาไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพในช่วงเวลาหนึ่ง การลงโทษทางอาญาจึงต้องสืบเนื่องจากการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แม้การหมิ่นประมาทไม่ใช่แค่คนสองคน รวมไปถึงสังคม แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีเสรีภาพในการแสดงออก อดทนอดกลั้นความเห็นที่แตกต่างมากขึ้น โทษฐานหมิ่นประมาทจึงค่อยๆ เอาออกไป ปล่อยให้แต่ละคนเรียกค่าสินไหมทดแทนเอาเอง
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เข้าสู่วงการการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ ถูกหมิ่นประมาทและถูกปล่อยเฟกนิวส์ แต่ยึดหลักว่าอยากรณรงค์แบบนี้ก็เลยไม่ฟ้องคดีใคร เพราะจุดยืนของตนกับคนที่หมิ่นประมาทถ้าไม่รู้สึกเจ็บปวดก็ปล่อยเขาไป แต่ถ้ารู้สึกเสียหายก็เรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง เพราะฉะนั้นเวลาถูกหมิ่นประมาทรัฐไม่เกี่ยว ปล่อยให้คนสองคนว่ากันเอง บางตำแหน่งเป็นเรื่องสาธารณะ เช่น ศาล ประมุขของรัฐ ข้าราชการ เจ้าพนักงาน แต่โลกมันเปลี่ยน ประชาธิปไตยไปไกลมากขึ้น ก็ถูกตั้งคำถามว่าตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งสาธารณะ ใช้อำนาจสาธารณะ ใช้ภาษีประชาชน จึงเป็นโอกาสที่จะถูกวิจารณ์มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ฉะนั้นค่อยๆ เอาเรื่องนี้ออกจากคดีอาญาให้หมด อะไรที่กำหนดความผิดอาญาต้องตอบสังคมให้ได้ว่าลงโทษเพื่อต้องการให้สังคมดีขึ้นอย่างไร เพราะคดีฆ่าคนตายก็ไม่มีใครบอกว่าให้เอาออกจากคดีอาญา เพราะกระทบสังคม แต่พอไม่กระทบสังคม เป็นเรื่องส่วนบุคคลก็เอาออกจากคดีอาญาก่อน อีกประการหนึ่ง คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งมีข้อจำกัด ถ้าแสดงความเห็นไปแล้วกระทบผู้อื่น แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วก็ไม่ควรถึงขั้นเอาไปจำคุก เห็นว่าการแสดงออกทั้งการพิมพ์ การพูด การเขียน ไม่ควรจบลงที่การเอาเข้าคุก เต็มที่เสียหายก็ขอโทษ แถลงข่าว ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สังคมจะได้มีฟรีสปีชอย่างหนึ่งถกเถียงได้ทุกประเด็น และอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน
ด้านนายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ตนไม่ใช่พวกขวาจัด และไม่นิยมการหยิบประเด็นให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง ในช่วงสิบกว่าปีที่ทำการเมืองหนักมากแล้ว ใกล้เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็แบ่งคนออกเป็นสองฝ่ายทันที ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง คราวนี้ตนกลัวมากเรื่องการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นประเด็น พยายามจะหาจุดลงตัวให้ได้ว่า อะไรที่ไม่เข้าใจและพอจะคุยกันได้ทางวิชาการ ตามปกติโทษอาญาระบุตามมาตรา 18 แต่ถ้าจะให้มาตรา 112 เป็นไปในลักษณะทางแพ่ง รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาททุกอย่าง แบบนี้คนไม่เท่ากัน แปลว่าคนรวยด่าใครก็ได้ ถ้าให้ค่าสินไหมทดแทนเข้าไปตอบโจทย์ แปลว่ารวยกว่าคนอื่น สูงกว่าคนอื่น ก็สามารถจะด่าใครก็ได้ แล้วไปจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน อย่าลืมว่าเวลาเสียหาย ศาลจะดูว่าบางส่วนหรือไม่ จะทำให้สังคมนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม คนรวยได้เปรียบในประเด็นนี้ และขอฝากว่าเวลาดูเรื่องความเท่าเทียม เรื่องเสรีภาพ ต้องดูอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องภราดรภาพ สังคมต้องมีความน้ำหนึ่งใจเดียวกันถึงจะมีทางออก ไม่อย่างนั้นก็จะแบ่งซ้ายแบ่งขวาแล้วรุนแรงทั้งคู่ หาทางออกไม่ได้