เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงแรมต้นอ้อยแกรนด์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกลั่นกรองแผนงานโครงการ อ.ก.บ.ภ. ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนปฎิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา) โดยมี นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณโครงการ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในวันนี้มามอบนโยบาย พร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสแรก ซึ่งรายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว เมื่อประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ GDP กระทบต่อการจ้างงาน มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรที่เป็นโครงสร้างหลักประเทศมีครัวเรือนกว่า 8 ล้านครัวเรือน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างจริงจังที่กำลังทำอยู่ เช่น โครงการประกันราคาพืชเกษตร 5 ชนิด ที่ถือเป็นการสร้างหลักประกันทางรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายในตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าภาคการเกษตร เพื่อนำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย(food safty) ขณะเดียวกันการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นอีกหนทางในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลจึงอยากให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ พร้อมฝากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การดำเนินการจัดสรรงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณท้องถิ่น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขอให้การจัดทำแผนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและการแก้ไขของพื้นที่ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ การให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคเกษตร เน้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และการรวมกลุ่ม ส่วนภาคบริการให้ภาครัฐจัดอบรม สัมมนา ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับสถานประกอบการ ธุรกิจขนาดเล็ก ร้านอาหาร โรงแรม และจะต้องไม่ซ้ำซ้อน ต้องแยกโครงการให้ชัดเจน ส่วนความปลอดภัยทางถนน ให้สนับสนุนงบประมาณสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน แม้จะลดลง แต่ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่การอบรมออนไลน์ จะต้องมีการประเมินผล เน้นหนักกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น พ่อแม่เป็นเกษตรกร ส่วนลูกขายออนไลน์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างมูลค่า ฯลฯ สนับสนุนให้เขาสามารถเป็นเจ้าของกิจการให้ได้
นอกจากนี้ จะต้องดูเรื่องการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณของแต่ละจังหวัด หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรมีการโอนเปลี่ยนแปลงโครงการและงบประมาณ เนื่องจากจะทำให้แผนที่วางไว้ไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และมีความพร้อมดำเนินการได้ทันที (ความพร้อมด้านที่ดิน สถานที่ รูปแบบรายการ และบุคลากร) สามารถยกระดับรายได้เกษตรกร เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว หรือ ยกระดับ คุณภาพชีวิตประชาชน และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ให้ดำเนินการโครงการให้สอดคล้องกับพื้นที่ และจะต้องเป็นไปตามระเบียบทุกโครงการ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จังหวัดควรจะต้องมี แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที