วันที่ 7 พ.ย. 2564 แม้ราคาข้าวเปลือกจะตกต่ำ แต่ชาวนาหมู่บ้านนาล้อม ต.นาหัวบ่อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ยังสามารถขายข้าวเปลือกส่งโรงงานในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด โดยข้าวเปลือกจากแหล่งผลิตบ้านนาล้อม นำไปแปรรูปผลิตข้าวเม่าหวานตามภูมิปัญญาแต่โบราณที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งข้าวเม่าจะหารับประทานได้เพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น กลุ่มชาวนาที่นี่จึงไม่มีปัญหากับราคาข้าวเปลือกตกต่ำแต่ประการใด
จากการสอบถาม นางสาวเจตสุดา ชินบูรณ์ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ที่ 2 บ้านนาล้อม ต.นาหัวบ่อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ประธานกลุ่มแปรรูปข้าวเม่าหวานบ้านนาล้อม หมู่ 2 ซึ่งกันเนื้อที่หน้าบ้านส่วนหนึ่งสร้างเป็นเพิงพักผลิตข้าวเม่า มีคนในครอบครัวช่วยกันผลิตข้าวเม่า โดยแบ่งหน้าที่และโซนการผลิตเป็นสัดส่วนอย่างลงตัว มีเสียงเครื่องจักรดังกระหึ่มตลอดเวลา นางสาวเจตสุดา เปิดเผยว่า ก่อนจะมาจะทำแปรรูปข้าวเม่าขาย อดีตเคยเป็นพนักงานโรงงาน อยู่ย่านบางพลี จ.สมุทรปราการ แต่สู้ค่าครองชีพที่ดีดตัวสูงไม่ไหว ลูกๆอยู่ในวัยเรียนมีค่าใช้จ่ายสูง จึงชักชวนสามีกลับบ้านเกิดจังหวัดนครพนม ยึดอาชีพชาวนาหาเลี้ยงครอบครัว ว่างจากการทำเกษตรก็จะ ไปรับจ้างเป็นคนงานแปรรูปข้าวเม่า ซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน เห็นรายได้ดีมีคนมารับถึงที่จึงลองทำดูบ้าง เริ่มต้นจากวันละ 20 กิโลกรัม ใช้มือตำใส่ครกไม้สองคนกับภรรยา ปรากฏว่าขายดีมาก จึงพัฒนาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเป็นระบบไฟฟ้า ดัดแปลงสิ่งของใกล้ตัวมาประกอบเป็นเครื่องทุ่นแรง และได้รับการสนับจากทางภาครัฐนำเครื่องซีนศูนย์ยากาศสามารถเก็บได้นาน ดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้เร่งผลิตให้ลูกค้าวันหนึ่งไม่ต่ำ 40-50 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 180 – 200 บาท ส่งขายออนไลน์ทั่วประเทศ และ ต่างประเทศ
นางสาวเจตสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวเปลือกที่นำมาทำข้าวเม่า เป็นข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 และต้องเป็นข้าวอ่อนก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 10-15 วัน ซึ่งกำลังเป็นข้าวน้ำนม การผลิตจะต้องทำวันต่อวัน เพื่อรักษาคุณภาพความใหม่ สด หอม น่ารับประทาน เริ่มผลิตข้าวเม่าปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ประมาณตีสามจะไปเกี่ยวข้าวสดๆ ในนาของเกษตรกร หากเกี่ยวทิ้งค้างคืนข้าวเม่าจะไม่หอม
จากนั้นจะนำเมล็ดข้าวมาล้างทำความสะอาด ก่อนจะนำมาแช่น้ำ ขั้นตอนสำคัญเหมือนหัวใจการผลิตข้าวเม่าอยู่หลังจากต้มจนสุก คือคั่วให้ข้าวแห้ง หากคั่วข้าวแห้งเกินไป ข้าวจะแข็งไม่น่ารับประทาน ต่อจากนั้นนำไปสีกระเทาะเปลือกออก และใส่ครกไม้ตำให้นิ่ม แล้วเอาไปสีร่อนเปลือกให้สะอาดอีกครั้ง ก่อนจะนำออกขายส่งแก่ลูกค้า รายได้การผลิตข้าวเม่าจะดีกว่านำข้าวเปลือกขายกับนายทุน ครอบครัวอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะทำข้าวเม่า อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ.
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครพนม