ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเป็นห่วงเป็นใยแรงงานต่างด้าว พร้อมผลักดันมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญ กรณีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เพื่อรองรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ
ขณะเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง สกัดกั้นขบวนการขนย้ายค้าแรงงานต่างด้าว รวมทั้งกำชับให้กระทรวงแรงงาน เร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย รองรับความต้องการของภาคการผลิตและบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากความสำเร็จในการเดินหน้าการเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้นของรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ออกประกาศกระทรวงเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น กล่าวว่า ภายหลังการเปิดประเทศ พบว่ามีผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน พร้อมขอบคุณฝ่ายความมั่นคง ที่ควบคุมดูแลการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และได้ประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้ชี้แจงกับแรงงานว่าอย่าเสียเงินเข้ามาในขณะนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ได้มีการตรึงกำลังตามแนวชายแดนแล้ว
“ขณะนี้รัฐบาลกำลังการ พิจารณา MOU นำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 นี้ จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข หารือ โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการ และนักธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง จึงขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาจบในเร็วๆ นี้ พร้อมกันนี้ประสานไปยังทูตแรงงาน ให้ชี้แจงกับแรงงานที่จะเข้ามาในประเทศไทย ว่าให้รอหลังกระบวนการ MOU เสร็จสิ้นก่อน” รมว.แรงงาน กล่าว
สำหรับขั้นตอนการร่าง MOU นั้น ศบค.ชุดเล็กรับหลักการแล้ว และจะให้ ศบค.ชุดใหญ่ และ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ ยังย้ำว่า วันนี้วัคซีนในประเทศไทยมีเพียงพอแล้ว จึงกล้าตัดสินใจนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU แต่ต้องมีการกักตัว 14 วัน เมื่อครบกำหนด กระทรวงแรงงานจะนำวัคซีนของมาตรา 33 มาฉีดให้กับแรงงานเหล่านั้น เพื่อความปลอดภัยกับประชาชนคนไทย
ทั้งนี้จะทำการ เพิ่มบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่มีการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายจับ และจะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว คาดอีก 2-3 สัปดาห์ จะเสร็จสิ้นกระบวนการ MOU