การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนทางด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพราะมีขบวนการไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองปล่อยข่าวเท็จ สร้างประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง โดยไม่ได้รู้สึกรู้สาว่า คนในชาติกำลังเผชิญสถานการณ์ความยากลำบากขนาดไหน
ในจังหวะที่ทุกฝ่ายแสวงหาความร่วมมือร่วมใจขจัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม แต่บรรดาขาจรขาประจำออกมารุมกระหน่ำวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อย่างหนักหน่วง ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมุ่งหวังให้คะแนนนิยมรัฐบาลลดต่ำลงไปเรื่อยๆเพื่อหวังช่วงชิงฐานอำนาจกลับคืนมา
สังเกตุได้ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลทำงานแก้ไขการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ไม่ว่ากำหนดมาตรการอะไรออกมา จะถูกตั้งป้อมคัดค้าน กล่าวหาว่าไม่ได้เรื่องไม่ได้ผล เรียกว่าโวยกันไว้ก่อน
แม้ว่า นายกฯออกคำสั่งดึงอำนาจรมว.มาอยู่ในมือผ่านกฎหมาย 31 ฉบับ ปรับโครงสร้างการทำงานแบบบูรณาการก็แล้ว แต่ยังมีอะไหล่ในเครื่องยนต์ใหญ่ภายในทำเนียบรัฐบาล ไม่ขับเคลื่อนตามสายพานบังคับบัญชา
มองตามหน้าเสื่อ ตลอดระยะเวลาของการแก้ไขปัญหา พบจุดบกพร่องของการทำงาน ทั้งในสภาพของกลไกการทำงานแบบราชการ รวมถึงข้าราชการเกียร์ว่าง ดังเห็นจากการรายงานของแต่ละจังหวัดในการลงทะเบียนฉีดวัคซีน เป็นตัวสะท้อนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ลงไปถึง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น อสม. มีประสิทธิภาพเพียงไรต่อการชี้ชวน ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน
ครั้นมองถึงกลไกการทำงานในระดับนโยบาย เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย ต่อบทบาทหน้าที่ ชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) แทบหายไปจากระบบไฟล์การทำงาน
ทั้งที่ขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่โลกทั้งใบจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ท่ามกลางคำถาม หัวแถวของกระทรวงดีอีเอสขยับเกมรุกไปถึงไหน
ชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)
จริงอยู่ รมว.ดีอีเอส อาจเป็นคนทำงานจริงจังไม่ถนัดประชาสัมพันธ์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่มีการปล่อยข้อมูลผ่านเครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีกลับเต็มไปด้วยความเลอะเทอะไม่สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมหมู่กว้าง ซึ่งถือเป็นภัยความมั่นคง ดังตัวอย่าง กรณีการสร้างข่าวให้ประชาชนเกิดความลังเลต่อการฉีดวัคซีน เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดถึง บทบาทการทำหน้าที่กระทรวงดีอีเอสได้มีส่วนในการสร้างความเข้าใจหรือจัดการขบวนการเฟกนิวส์อย่างไร
ย้อนกลับไปยุคที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เคยดำรงตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) มีการแถลงถึงผลการดำเนินการติดตามจับกุม กลุ่มขบวนการที่สร้างข่าวเท็จ หรือแม้แต่ขบวนการจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง ย่อมมีผลทางจิตวิทยาให้เครือข่ายไม่ประสงค์ดีต่อชาติบ้านเมืองหนาวๆร้อนๆ ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจัง
แต่มาถึงพ.ศ.นี้ นายกฯแต่งตั้ง ชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ เป็นรมว.ดีอีเอส เหมือนกลายเป็นรมต.โลกลืมชนิดต้องตามตัวเหมือนตามหาวัคซีนให้เข้ามาทำหน้าที่โดยเร็ว เพราะไม่ปรากฎถึงการดำเนินการกวาดล้างขบวนการไม่ประสงค์ดีต่อชาติบ้านเมืองจริงจังนัก
รมว.ดีอีเอสคนปัจจุบัน เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เกี่ยวกับการเข้ามาปราบปรามขบวนการสร้างข่าวเท็จ ทางโซเชียลมีเดีย
“ถึงจะไม่ได้มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ เรื่องในโซเชียลก็มีการจัดการอยู่แล้ว รัฐมนตรีคนเก่าก็ทำ ใครก็ต้องทำเพราะเป็นไปตามกฎหมาย มีหน่วยงานทั้งตำรวจ กระทรวง อัยการ ศาล ก็ทำงานใช้กฎหมายอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวว่าต้องผมมา หรือใครมา มันต้องทำอยู่แล้ว ”
“การจัดการกับโซเชียลมีเดียที่ทำลายความมั่นคง หลอกลวงประชาชน หรือทำให้ประชาชนเสียหาย เช่น บ่อนการพนัน ฉ้อโกงทรัพย์อะไรต่างๆ ก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว กฎหมายให้อำนาจเราทำ ไม่ได้ถูกกำชับมาเผื่อให้จัดการม็อบ เพราะเป็นเรื่องปกติตามกฎหมาย ทำตามหน้าที่ ข้าราชการเขาทำอยู่แล้ว รัฐมนตรีแค่มากำกับให้เป็นไปตามสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแค่นั้นเอง ซึ่งตอนนี้ก็เบาลงไปเยอะแล้ว ในเรื่องที่เกี่ยวกับอะไรที่ไม่ดีในเว็บต่างๆ แต่คงไม่ได้หมดไป มีใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ “ รมว.ดีอีเอส กล่าวไว้เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2564
อ่านระหว่างบรรทัด สะท้อนตัวตนคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อย โดยเฉพาะกับถ้อยความ มีหน่วยงานทั้งตำรวจ กระทรวง อัยการ ศาล ทำงานใช้กฎหมายอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวว่าต้องผมมา หรือใครมาทำ
…ช่างกล่าวได้ทรมานใจเหลือเกิน…
กล่าวกันตามประสาชาวบ้านเข้าทำนอง “ธุระไม่ใช่” ขอปล่อยผ่าน
แล้วสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เป็นสถานการณ์ปกติหรือไม่ หรือรมว.ที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรง ไม่รับรู้อีก
ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมขบวนการสร้างข่าวลวง ปล่อยข่าวเท็จ บิดเบือนนำมาซึ่งความสับสน โดยที่ผู้รับผิดชอบต่อการกวาดล้างถึงไม่มีการเอาจริงจัง ชนิด”เชือดไก่ให้ลิง” ดูซะบ้าง
จึงปล่อยให้กระทำการอย่างย่ามใจกันมาถึงขนาดนี้