เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ทีมโฆษกพรรคไทยภักดีร่วมกันแถลงเน้นย้ำจุดยืนหลักการ และความเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งคัดค้านแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยนางสาววิลาสินี แววคุ้ม โฆษกโฆษกพรรคไทยภักดี กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองออกมาแสดงความกังวลหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในข้อหาล้มล้างการปกครองของ 3 แกนนำม็อบราษฎร จะเป็นการเพิ่มระยะห่างทางการเมืองแบบสุดขั้ว และนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้นั้น ในฐานะคนไทย ไม่มีใครปรารถนาให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น แต่ที่ผ่านมา ทั้ง 3 แกนนำและเครือข่าย มีส่วนในการจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลการกระทำของทั้ง 3 คน นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีของพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ 10 ข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครอง
นางสาววิลาสินี กล่าวต่อว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพของแกนนำทั้ง 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครอง ดังนั้นหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการพูด เขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตย่อมสามารถทำได้ตามสิทธิ เสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 1 มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่เมื่อใดการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นไปอย่างไม่สุจริต มีวาระซ่อนเร้น ปวงชนชาวไทยภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาค เท่าเทียม เพื่อความเป็นภราดรภาพ และความสุขสงบของสังคม
ด้านผศ.พิมพ์ณัฐชยา สัจจาศิลป์ โฆษกพรรคไทยภักดี กล่าวว่า หากเรายึดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ อีกทั้งมาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และมาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงดํารงตําแหน่งจอมทัพไทย การกระทำที่มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่ใช่เป็นการปฏิรูปการให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
ผศ.พิมพ์ณัฐชยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงพยานหลักฐานต่างๆ ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจนแต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก กระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาต่างๆ ไม่ใช่การบิดเบือนเพื่อนำไปสู่ทางการเมือง การไม่ยึดขนบจารีตประเพณีที่สร้างและดำรงเอกราชความเป็นชาติไทย เน้นเพียงยุคสมัย ขาดรากเหง้า และอารยธรรมของประเทศที่สืบเนื่อง การถ่ายทอดชนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งนั้น ขอให้ระลึกว่า ประเทศไทยแห่งนี้ มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม จึงขอให้อย่าบิดเบือน ยัดเยียดให้อนาคตของชาติไทยเราเองไม่รักบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ภูมิใจในความเป็นไทย ไม่เคารพบรรพชนที่พลีชีพเพื่อรักษาภัยของชาติ ดังนั้น การสร้างความแตกแยก ให้ชาวไทยที่เป็นอนาคตของชาติเป็นศัตรูของชาติจึงไม่ใช่สังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่ผิดขนบจารีตประเพณี และล้มล้างการปกครอง อย่าด้อยค่าการยึดรัฐธรรมนูญ และจารีตประเพณีเป็นการอนุรักษ์นิยมอย่างถึงที่สุด และย้อนแย้งว่าทำลายระบอบประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย
“ตามมาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หน้าที่ในป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หน้าที่เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิด ความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ฐานในทางการเมือง การเจตนาบิดเบือนการใช้กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่วิญญูชนคนทั่วไปย่อมรู้ได้ว่าเป็นสิ่งไม่ควร อย่าแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในการเมืองของพรรคตนเอง” ผศ.พิมพ์ณัฐชยา กล่าว
ขณะที่นายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว โฆษกพรรคไทยภักดี กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแถลงการณ์ และจุดยืนหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เกี่ยวกับการร้องในมาตรา 49 นั้น จากประเด็นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ชัดว่า แกนนำทั้ง 3 คนมีเจตนาเพื่อทำลาย หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องหมดสิ้นสลาย และจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสียงข้างมากวินิจฉัยการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 นั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กร เครือข่าย ให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง เพราะฉะนั้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนถึงการวางกรอบการปฏิบัติ และยังรวมถึงผูกพันทุกองค์กรอย่างชัดเจน เชื่อว่าอาจจะส่งผลต่อผู้ที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังให้คิดทบทวนมากขึ้น กฎหมายมาตรา 116 ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต และกฎหมายมาตรา 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
นายจักรพงศ์ กล่าวต่อว่า ในการที่มีการผลักดันให้มีการยกเลิกหรือพยายามจะแก้กฎหมายทั้ง 2 นี้ หรือแม้กระทั่งหลายข้อเรียกร้องใน 10 ข้อ ประจักษ์ชัดว่ามีเจตนาการในล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งตามบัญญัติรัฐธรรมนูญตามมาตรา 3 อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของ ประชาชนโดยรวมพิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเสนอวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง ให้ได้รับสิทธิในการประกันตัว อย่างไรก็ตามเราต้องยึดหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
นายจักรพงศ์ กล่าวอีกว่า การยุบพรรคด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง เรื่องนี้มีกฎหมายระบุชัดเจนแล้วว่า ตามบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น 1. กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ
2. กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เราพรรคไทยภักดีขอย้ำจุดยืนในหลักการและเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคัดค้านแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย