สำนักข่าว AFP ออกมาชี้แจงว่ารูปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกแชร์ว่อนเน็ต ขณะถ่ายรูปหมู่พร้อมกับผู้นำโลกคนอื่นๆในที่ประชุมเอเปค เมื่อหลายปีก่อน โดยกล่าวหานายกฯไทยว่าไม่โบกมืออยู่คนเดียว ขณะที่ผู้นำคนอื่นโบกมือนั้นเป็นข้อมูลเท็จ
AFP ออกมาชี้แจงในหน้า Fact Check หรือการแจ้งเตือนข่าวปลอมในวันนี้ โดยเผยว่ากรณีที่มีคนนำเอารูปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยเผยแพร่ในโซเชียล มีเดีย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการส่งต่อทั้งในทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คหลายหมื่นครั้ง เฉพาะในทวิตเตอร์อย่างเดียวก็ 2 หมื่นกว่าครั้ง เป็นภาพพลเอกประยุทธ์ยืนนิ่ง ไม่โบกมือ ขณะที่ผู้นำโลกคนอื่นๆโบกมือกัน พร้อมกับแคปชั่นใต้ภาพที่กล่าวว่า “ช่างภาพ ตะโกนบอกเป็นภาษาอังกฤษให้ยกมือขวาพร้อมๆกัน ทุกคนยกมือหมด ยกเว้นพลเอกประยุทธ์…… “ โดยเนื้อหาแสดงถึงการเหยียดหยามเยาะเย้ย ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ AFP เผยว่าภาพดังกล่าวเป็นการครอป มาแต่รูปพลเอกประยุทธ์และผู้นำที่ยืนข้างๆ แต่เมื่อเข้าไปดูภาพจริงดั้งเดิมซึ่งเป็นภาพข่าวของสำนักข่าวยอนฮับ ของเกาหลีใต้ โดยโพสต์ลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2017 หรือ 4 ปีที่แล้ว จะเห็นว่ามีผู้นำอีกหลายคนไม่ได้โบกมือเช่นกัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์, นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ผู้นำแคนาดา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย
และเมื่อ AFP เข้าไปดูคลิปวีดีโอเต็มความยาว 2.39 นาที ซึ่งเป็นของสำนักข่าว RTM ของฟิลิปปินส์ จะเห็นว่าเมื่อช่างภาพตะโกนให้ยกมือ พลเอกประยุทธ์ได้ยกมือขึ้นโบกสักพัก แต่ได้เอามือลงก่อน ขณะที่ผู้นำบางคนยังคงโบกมืออยู่ โดยภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นภาพตอนพลเอกประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และภาพดังกล่าวเป็นการถ่ายรูปหมู่ของผู้นำที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2017 ดังนั้นภาพที่แชร์ในโซเชียล มีเดียถือว่าเป็นการชี้นำทำให้คนเข้าใจผิด
AFP กล่าวว่าพลเอกประยุทธ์ตกเป็นเป้าของการสร้างข่าวเท็จบ่อยครั้ง และมีหลายครั้งที่ AFP ต้องออกมาชี้แจงและแก้ข่าวเท็จ