วันนี้ 18 พ.ย.64 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การวิจัยพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายสุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีลงนามฯ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ สช. และ กสศ. ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนระบบการศึกษา โดยการสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรงบประมาณแบบมีเงื่อนไข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและให้การช่วยเหลือนักเรียนยากจน เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ และด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ และด้อยโอกาส เพื่อลดความเลื่อมล้ำในการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนและประสิทธิภาพของครูในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การนำนวัตกรรมการคัดกรองนักเรียนยากจนของ กสศ. มาใช้ในสถานศึกษาเอกชน ถือเป็นเรื่องดีเพื่อช่วยเหลือติดตามนักเรียนได้อย่างทันเวลา นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ศักยภาพครู และคุณภาพโรงเรียน ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับขีดความสามารถของครู โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ซึ่ง กสศ. ได้วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ การส่งเสริมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองให้กับโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในเรื่องการเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียนในศตวรรษที่ 21 การเรียน การสอนแบบ Active Learning เป็นต้น
นายสุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ และด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษารวมถึงการพัฒนาครูและสถานศึกษาในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เน้นการสนับสนุนเครื่องมือการคัดกรองความยากจนด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test : PMT) และระบบสารสนเทศ ให้แก่ครู สถานศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด และ สช. เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญช่วยเหลือติดตามเฝ้าระวังนักเรียน และขอรับงบจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งเครื่องมือนี้จะนำไปใช้ในโรงเรียนประเภทสามัญศึกษา สังกัด สช. ทั่วประเทศ จำนวน 3,900 แห่ง และส่วนที่สอง เน้นช่วยเหลือนักเรียนที่อยู่ในครัวเรือนยากจน 15% ล่างของประเทศ ที่ศึกษาในโรงเรียนเอกชนประเภทการกุศล 566 แห่ง ผ่านโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข โดยนักเรียนยากจนพิเศษจะได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข คนละ 3,000 บาทต่อปี เพื่อบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน ค่าครองชีพ ค่าอาหารเช้า พร้อมทั้งมีระบบติดตามการมาเรียน ผลการเรียน และการเจริญเติบโตของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2564 กสศ. มีงบประมาณช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค สังกัด สช. ได้จำนวน 2,500 คน
นายสุภกร บัวสาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่สองนี้ คือ กลุ่มครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและส่งเสริมให้โรงเรียนมีการพัฒนาทั้งระบบ ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนสังกัด สช. เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองรุ่นที่ 2 จำนวน 27 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนที่จะได้รับประโยชน์และยกระดับคุณภาพการศึกษาจำนวน 10,000 คน อย่างไรก็ตาม การจัดทำบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ยังนำไปสู่การเชื่อมต่อระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สช. กว่า 3,902 แห่ง
นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า การสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยให้ สช. มีฐานข้อมูลความยากจนของนักเรียนที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการขอรับงบประมาณประจำปี เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากปัญหาความยากจน และด้อยโอกาสได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สช. และ กสศ. ยังมุ่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teacher and School Quality Program : TSQP ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการโรงเรียน และการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21
ที่มา..กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ศูนย์ข่าว TOPNEWS