นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ได้มีมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด ทั้ง ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยในรอบ 3 ปี (พ.ศ.2562 – 2564) ที่วาระการขออนุมัติผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบงบประมาณ อุดหนุน “ประกันรายได้” จ่ายส่วนต่างราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด รวมยอด 276,193 ล้านบาท ดังนี้ ข้าว 190,311 ล้านบาท ยางพารา 37,821 ล้านบาท ปาล์ม 22,186 ล้านบาท มันสำปะหลัง 20,372 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,503 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นการสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานและดูแลทุกกลุ่มประกันรายได้ข้าว ยาง พาราปาล์ม น้ำมันมันสำปะหลังและข้าวโพด ให้มีพลังก้าวต่อด้วยศักยภาพของตนเอง มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์แล้วกว่า 8 ล้านครัวเรือน
นายธนกร กล่าวว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการ “ประกันรายได้เกษตรกร” ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2564 เห็นชอบการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2564/65 (งวดที่ 1) ดังนี้
ข้อ 1 ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการ “ประกันรายได้เกษตรกร” ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2564/65 (งวดที่ 1) สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 และระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% กิโลกรัมละ 9.45 บาท ข้อ 2 การชดเชยส่วนต่าง เมื่อคำนวณส่วนต่างจากราคาเป้าหมาย กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ตามข้อ 1 แล้วราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในครั้งนี้สูงกว่าราคาเป้าหมาย (กิโลกรัมละ 8.50 บาท) จึงไม่มีการจ่ายชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกร ทำให้งวดแรกของปีที่ 3 เกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 4.5 แสนครัวเรือน ขายผลผลิตได้ราคาสูงในการเริ่มต้นผลผลิตปีนี้
“หลักการของการประกันรายได้ขั้นต่ำ เพื่อให้เกษตรมีความมั่นคงของรายได้ แทนการแทรกแซงระดับราคาสินค้าเกษตร ลดภาระงบประมาณในการรับซื้อผลผลิตและจัดเก็บ บริหารสต็อกสินค้า ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังมีนโยบายโครงการเกษตรแปลงใหญ่ การบริหารกองทุนเพื่อการเกษตรและเงินเชื่อภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการการผลิต แปรรูป จำหน่ายผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าสินค้าการเกษตรให้มาก พร้อมๆ ไปกับการเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วย ซึ่งแนวทางการทำงานของนายกรัฐมนตรี คือ เร่งแก้ไขปัญหาเดิม ศึกษาปัญหาปัจจุบันและวางแผนอนาคต เพื่อสร้างเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย”