เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบหลังมีชาวบ้านออกมาแฉพฤติกรรมของมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ เอากระดาษมาติดตามบ้าน อ้างนำหมายมาจาก กยศ. ตามทวงหนี้ตามบ้าน พอเจ้าของบ้านขอดูจดหมายก็ไม่ให้ดู ก่อนเดินหนี ด้านผู้จัดการ กยศ.ยืนยัน ไม่มีเจ้าหน้าที่ นำหมายไปติดตามบ้าน แต่ไม่ชี้ชัดว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ เพราะหน้าที่การติดหมายเป็นของเจ้าพนักงานกรมบังคับคดี
เรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยผ่าน เฟซบุ๊ก “อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น part 2” โพสต์ภาพชายคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเสื้อแจ็กเก็ต กางเกงขายาว สวมหมวก ยืนหน้าบ้านโดยถือแผ่นกระดาษใบหนึ่ง พร้อมข้อความ ระบายความในใจว่า เตือนภัย มิจฉาชีพอีกรูปแบบ อ้างว่านำหมายมาจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพ ระวังมากๆ สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุ มิจฉาชีพรายนี้อ้างว่าบ้านเราติดหนี้กองทุน กยศ. มีหมายให้มาดำเนินการ พอแม่ขอดูจดหมายก็ไม่ให้ดู และเห็นว่าหลอกยากแน่ๆ เลยรีบเผ่น วันเสาร์ทำงานด้วยเหรอ ภาครัฐเกี่ยวกับ กยศ.จะแจ้งทางจดหมายหรืออีเมลนายจ้างนะเท่าที่เคยดีลงานมา ระวังกันนะ โจรหากินทุกรูปแบบจริงๆ
ในเรื่องดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้ สอบถามข้อมูลไปยังนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. ก็ชี้แจงว่า ยืนยันว่า กยศ.ไม่มีนโยบายให้เจ้าพนักงานลงพื้นที่ไปเคาะประตูตามบ้านของผู้กู้เพื่อติดหมาย ไม่ว่าจะเป็นหมายฟ้อง หมายบังคับคดี หรือหนังสือแจ้งเตือนผิดชำระหนี้ โดยจะเป็นการส่งจดหมาย ไปยังภูมิลำเนาของผู้กู้ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนแจ้งเข้ามาว่า อาจมีกลุ่มมิจฉาชีพมาเคาะประตูบ้านแล้วอ้างนำหมายไปติด ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เนื่องจากว่าโดยปกติขั้นตอนทางกฏหมาย เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้จนถึงขั้นตอนการฟ้องร้องทางแพ่ง จนศาลพิพากษา ก็จะมีเจ้าพนักงานบังคับคดีนำหมายบังคับคดีไปติดไว้ที่หน้าบ้าน
สำหรับการแต่งกายของเจ้าพนักงาน จะต้องใส่ชุด เครื่องหมายของหน่วยงานนั้นๆ แต่อาจมีอนุโลมให้ใส่ชุด อื่นๆ หากการเข้าพื้นที่ของพนักงานบังคับคดีมีความอันตรายและสุ่มเสี่ยง