รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอกหน้า ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาพูดประเด็นทำ MOU ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีความล่าช้า ล่าช้าว่าไม่มีตรรกะ รู้ไม่จริง ถ้าแน่จริงให้ถามกลางสภาผู้แทนราษฎร จะสอนและอธิบายให้เข้าใจ จากนั้นได้ให้กำลังใจส่งแรงงานไทย 120 คน ไปทำเกษตรและปศุสัตว์ ที่ประเทศอิสราเอล
เช้าวันนี้ นายสุชาติ ซมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาให้กำลังใจแก่แรงงานไทย 120 คน ที่สมัครผ่านทาง สำนักงานจัดหางาน และ www.doe.go.th/overseas ก่อนเดินทางทำงานภาคเกษตรและปศุสัตว์ในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ TIC ที่ ด่านตรวจคนหางาน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า วันนี้มีกำหนดส่งแรงงานไทย จำนวน 120 คน แบ่งเป็นเพศชาย 115 คน และเพศหญิง 5 คน ทำงานภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) ซึ่งในปี 2564 โดยปัจจุบันประเทศไทย ได้รับโควต้าส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ จำนวน 5,000 คน รวมทั้งสิ้น 25,000 คน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้รับโควต้าเพิ่มจาก PIBA ขอให้ไทยจัดส่งแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1,400 คน เป็น 6,400 คน ต่อปี โดย มีสัญญาว่าจ้าง 5 ปี เงินเดือน 50,000 บาท หรือ 5,300 เชคเกล และขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน
แรงงานไทยดังกล่าวจะเดินทางไปทำงานกับนายจ้างในกิจการภาคเกษตร ได้แก่ ทำสวนดอกไม้ ปลูกกระบองเพชรปลูกมะเขือเทศ กล้วย แตงโม และฟักทอง รวมทั้งในกิจการปศุสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงวัว หมู ไก่ และผึ้ง จะเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร เที่ยวบินที่ LY 082 ของสายการบินแอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังกรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้รับนโยบายส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ 100,000 คนต่อปี เพื่อการมีงานทำ นำรายได้เข้าประเทศ และนำกลับมาต่อยอดสร้างกิจการเป็นของตัวเองในพื้นที่ดินของตัวเองหรือครอบครัว อีกทั้งยังสามารถผลักดันเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้น และขอให้ทุกคนปฏิบัติตนตามกฎหมายของอิสราเอล และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งก่อนที่จะส่งตัวไปทำงานที่ต่างประเทศทางกระทรวงแรงงานได้มีการจัดฝึกอบรม คาดว่าแรงงานไทยจะปฏิบัติตามกฎเหล่านี้อย่างเคร่งครัด
ส่วนของกรณีขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว MOU ในประเทศไทยหลังจากเปิดประเทศ จะต้องรอสิ้นสุด มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ให้แรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีแรงงานผิดกฎหมาย จำนวน 80,000 คน มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมจัดหางานได้ตั้งเป้าไว้ปีละ 100,000 คน เมื่อสิ้นสุดมติ ครม. นายจ้างจะต้องพิจารณาว่ามีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มหรือไม่ หากนายจ้างมีความต้องการ ทางกรมจัดหางานก็จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ และยื่นไปที่ต่างประเทศเพื่อจัดหาแรงงานเข้ามา เพราะเราไม่ต้องการแรงงานเข้าประเทศเกินความจำเป็น
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณี เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 ที่ นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึง กระทรวงแรงงาน ว่ามีความล่าช้าในการทำ MOU ให้กับแรงงานต่างด้าวและยังมีค่าใช้จ่ายสูง นายสุชาติ ระบุว่า สส.ท่านนี้อาจจะไม่ได้ติดตามหรือพูดเอาแค่สนุก ถามว่าประเทศเปิดมา 7 วัน ตนสรุปจบไปแล้ว เพราะมีประชุมล่วงหน้าไว้ 2 เดือน หัวข้อประชุมว่านายจ้างจะต้องทำอะไรรัฐบาลจะต้องช่วยอย่างไร ถามว่าเมื่อ 2 เดือนที่แล้วปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานยังไม่สามารถทำได้
เนื่องจากจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เรียบร้อย ซึ่งไม่สามารถเข้าระบบ MOU ได้ เพราะเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพิ่งจะมีการเปิดประเทศ เมื่อเปิดประเทศแล้วเราก็เปิดระบบ MOU เลย อีกทั้งยังติด ครม.ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการเอาแรงงานที่ผิดกฏหมายขึ้นมาให้ถูกกฎหมาย อย่างถูกต้อง สส.ที่มีตรรกะคิดพูดเอาสนุกเอามันแบบนี้ ที่จริงไม่มีความรู้ หากอยากรู้ก็กระทู้ถามตนในสภาก็จะตอบและจะสอนให้ด้วยว่ามันต้องทำอย่างไร รู้หรือไม่ว่าขั้นตอนแต่ละอย่างต้องทำอย่างไร มันไม่ใช่ของง่ายๆว่าใครๆก็ทำได้