ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม!….หลายคนอาจเคยได้ยิน แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเองและคนที่รัก เช่นเดียวกับ ทันตแพทย์สาว มนวดี พิรภาดา ทันตแพทย์ที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ทั้งนี้ มะเร็ง นั้นเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัยไม่เว้นแม้แต่ในเด็กทารก แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป สามารถเกิดได้บนอวัยวะทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เต้านม ปากมดลูก ลำไส้ เม็ดเลือดขาว หรือแม้แต่ช่องปากของเราก็ไม่เว้น เพราะโรคดังกล่าวนี้เกิดจากการที่ร่างกายมีเซลล์ผิดปกติ ซึ่งไปเจริญเติบโตอยู่บนอวัยวะต่างๆ อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้
หากปล่อยไว้นานหรือไม่ได้รับการตรวจเจอเร็วเท่าที่ควรเซลล์ผิดปกติเหล่านี้ก็จะเติบโตและลุกลามไปทั่วร่างกายส่วนอื่นๆ สิ่งที่ตามมาคือการทำงานของอวัยวะที่มีเซลล์ผิดปกตินั้นก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตในที่สุด ลักษณะของมันจะมีความคล้ายคลึงกับเนื้องอกแต่เป็นเนื้อร้าย สามารถเติบโตได้รวดเร็วและลุกลามไวมากกว่า ขั้นตอนการรักษานั้นก็ยุ่งยากมากกว่าเนื้องอกเพราะนอกจากจะผ่าตัดแล้วยังต้องทำเคมีบำบัดและได้รับยาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังต้องควบคุมวิถีชีวิตไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหารก็ตาม
สาเหตุการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบแน่นอน แต่สาเหตุที่มักจะเกิดกับคนที่มีอายุมากนั้นเกิดจากการที่บุคคลได้รับสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็น รังสี สารเคมี หรือไวรัสจนทำให้เซลล์ภายในร่างกายนั้นเปลี่ยนแปลงและผิดปกติจนพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ดังนั้นหากไม่อยากป่วยเป็นโรคดังกล่าวเราก็ต้องระวังสิ่งที่จะทำให้เซลล์ภายในร่างกายของเราเติบโตผิดปกติอย่างเช่น สารเคมีจากบุหรี่และควันรถยนต์ เชื้อรา อาหารที่ไหม้เกรียม สีย้อมผ้า สารเคมีบางตัวที่ใช้ในอุตสาหกรรม การป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี HPV และโรคอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเกิดได้จากกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ
ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งนั้นก็มีหลายปัจจัย เช่น
-ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง มีทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
-ปัจจัยภายใน คือ เซลล์ในร่างกายที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด
-ปัจจัยภายนอก คือ การที่เราได้รับสารก่อมะเร็งเข้าไปในร่างกาย เช่น บุหรี่ นับเป็นสารก่อมะเร็งที่ชัดเจนที่สุด
-ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เซลล์พันธุกรรมเปลี่ยนแปลง จนทำให้เซลล์นั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
ขณะที่ 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย-เพศหญิงนั้น ได้แก่
เพศชาย
อันดับ 1 มะเร็งปอด
แม้ตัวเลขของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในประเทศไทยนั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ แต่จำนวนของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม หากลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลงได้ อีกทั้งระมัดระวังอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง ที่โดนความร้อนสูง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ค่อนข้างมาก
อันดับ 2 มะเร็งตับ
สาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดมาจากโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็น เพราะโรคนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการอะไร ทำให้คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบนั้น มีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จนกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีประวัติครอบครัวเคยเป็นไวรัสตับอักเสบ ก็ควรไปตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ
อันดับ 3 มะเร็งท่อน้ำดี
ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพญาธิใบไม้ ซึ่งพญาธิใบไม้จะพบได้ในเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานของดิบ เช่น ปลาร้า ปลาดิบที่เป็นปลาน้ำจืด วิธีป้องกันนั้นง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น คือแค่เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ให้ปรุงสุกก่อนทุกครั้ง ก็สามารถห่างไกลจากมะเร็งท่อน้ำดีได้
เพศหญิง
อันดับ 1 มะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มาจากการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณมากเป็นเวลานาน เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด การฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกสำหรับผู้หญิงที่มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านพันธุกรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตามมะเร็งเต้านมนั้นสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยการใช้มือคลำ หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
อันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก
เดิมทีมะเร็งปากมดลูก เคยเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นเยอะที่สุด แต่ปัจจุบันมีจำนวนของผู้หญิงไทยที่เป็นโรคนี้ลดลง เพราะมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ทำให้หลายคนเปิดใจ มีความกล้าที่จะไปตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-12 ปี ซึ่งวัคซีนตัวนี้จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต
อันดับ 3 มะเร็งลำไส้
ผลการวิจัยพบว่า คนที่รับประทานผัก ผลไม้ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้น้อยกว่าคนที่ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด อย่างไรก็ตามคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจอุจจาระเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระหรือไม่ นอกจากการตรวจหาเลือดในอุจจาระแล้ว การส่องกล้องลำไส้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหามะเร็งลำไส้ได้ดีอีกด้วย
ดังนั้นถ้าอยากลดความเสี่ยงจากมะเร็งร้าย เราสามารถทำได้ ซึ่งมีเคล็ดลับดีๆมาฝากกันดังนี้
1.หยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
2.อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
3.ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะมาก เช่นการทำงานในที่ที่มีฝุ่นควันมากหรือเหมืองแร่ โดยไม่ใช้เครื่องมือป้องกันตนเอง
5.ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอาหารที่มีราสีเขียว – สีเหลืองขึ้น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารเค็มจัด ส่วนไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่างและรมควัน อาหารแปรรูป และ/หรือ ถนอมอาหารด้วยเกลือและดินประสิว ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเหล่านี้ก็อาจจะเป็นทางหนึ่งในการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยหลักของการรับประทานอาหารเพื่อต้านมะเร็งหรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งนั้น มีดังนี้
1.รับประทานผักให้หลากสีเพื่อความหลากหลายทางคุณค่าอาหาร
2.รับประทานผลไม้เป็นประจำเพราะมีวิตามิน เกลือแร่และเส้นใยอาหารที่ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย
3.รับประทานธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีให้น้อยที่สุดเพื่อให้คงคุณค่าทางโภชนาการไว้และเส้นใยจากธัญพืชจะช่วยพาสารที่เป็นโทษต่อร่างกายออกไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งทางเดินอาหารและมะเร็งในลำไส้ใหญ่
4.เพิ่มการใช้เครื่องเทศในอาหารเพื่อให้ได้รับแร่ธาตุ วิตามิน และสารประกอบอื่นๆ
5.ปรุงอาหารให้ถูกวิธี เช่น ไม่ปิ้ง ย่าง อาหารประเภทเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆโดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด และไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายๆครั้ง เป็นต้น
6.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทั้งจากพืชและจากสัตว์
7.ลดการบริโภคเนื้อแดงเพราะมีไขมันอิ่มตัวสูง
8.ลดการบริโภคอาหารหมักดองเพราะอาจทำให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป
ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ถูกตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งอยู่นั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป