การเดินทางมาปักหลักชุมนุมบริเวณทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ของเครือข่ายเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ในช่วงเย็นของวันที่ 6 ธันวาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญายุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือ ชื่อเต็มคือ โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงไว้เมื่อ 1 ปี ก่อน แต่ไม่ทันข้ามวันเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม พร้อมคุมตัวผู้ชุมนุม จำนวน 35 คน ไปควบคุมที่กักขังชั่วคราว ก่อนจะถูกปล่อยตัวในภายหลัง
สำหรับบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญา ได้ทำการลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเวลานั้น ได้รับมอบหมายจากบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับเครือข่ายจะนะ ที่มาชุมนุมบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้น ร้อยเอกธรรมนัส และนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เซ็นชื่อยอมรับ MOU ร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายจะนะอีก 2 คน โดยรายละเอียด MOU มีอยู่ 2 ข้อใหญ่ ดังนี้
1.รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติครม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ทุกฉบับ และยุติการดำเนินที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ทั้งการยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองสงขลา เลิกศึกษารายงานEIA และEHIA จนกว่ากระบวนการตามข้อที่ 2 จะแล้วเสร็จ
2.รัฐบาลต้องจัดประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA จังหวัดสงขลา โดยมีหลักการประเมิน อาทิ ประเมินบนพื้นฐานทรัพยากรของพื้นที่ ศักยภาพของระบบนิเวศ การประเมินยุทธศาสตร์เพื่ออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตของคนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลุ่มทุนภายนอกเป็นปัจจัยเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ และการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ ให้ยึดหลักการกระจายรายได้ของประชาชน ความเป็นธรรมของคนและระบบนิเวศ อีกทั้งต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อวางกรอบศึกษา SEA และในการศึกษาต้องไม่มี ศอ.บต.เป็นผู้มีส่วนในการจัดทำ
MOU เจ้าปัญหาฉบับดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ ได้ชี้แจงกับสื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ว่า ตนเองและรัฐบาลไม่ได้เป็นคนไปตกลง แต่คนที่ไปตกลงคือร้อยเอกธรรมนัส ซึ่งตนเคยเตือนทุกคนไปหลายครั้งแล้วว่า การจะไปเจรจาอะไรกับใคร อย่าไปรับปากเขามาทันที ถ้าหากยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของครม. หรือของรัฐบาล อีกทั้งหากย้อนกลับไปในการประชุมครม.ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หนึ่งวันหลังจากที่ร้อยเอกธรรมนัสไปเซ็น MOU พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงกับเตือนร้อยเอกธรรมนัสกลางที่ประชุมครม.ว่า การไปเซ็นชื่อตัวเองกำกับใน MOU เท่ากับยินยอมทำตามเอกสารนั้นทั้งหมด และควรแก้ไขคำสั่งในเอกสารเพื่อไม่ให้เป็นการผูกมัด ครม.จนเกินไป หากไม่แก้ไขและทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้ คนเสนอต้องรับผิดชอบเอง ด้านร้อยเอกธรรมนัสชี้แจงว่า เหตุที่ตนเองต้องลงนามในเอกสาร เพราะต้องการให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว เพราะทราบว่าคณะราษฎรจะเข้ามามีส่วนร่วมกับประเด็นนี้จึงต้องรีบจัดการ
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ประชาชนในพื้นที่บางส่วนภายใต้ชื่อกลุ่มคนรักจะนะ ได้ชูมือสนับสนุนโครงการ เนื่องจากต้องการให้พื้นที่ได้รับการพัฒนา และขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการ โดยกลุ่มคนรักจะนะชี้ว่า คนจะนะจริงๆ ร้อยละ 85 เห็นด้วยและสนับสนุน เพราะสร้างงาน สร้างรายได้กับชุมชน ที่สำคัญรองรับลูกหลานที่จบการศึกษาที่จบมาแล้ว และกำลังจะจบมีงานทำ
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4 ตามนโยบาย โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ริเริ่มมาตั้งแต่ยุครัฐบาลยุคคสช. เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าโครงการ
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จำนวน 16,753 ไร่ พื้นที่โครงการจะประกอบไปด้วยท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งรองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ และ6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่ หากก่อสร้างได้สำเร็จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้