เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 7 ธันวาคม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นออกมาเคลื่อนไหวทวงสัญญาการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ หน้าทำเนียบรัฐบาล จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าสลายการชุมนุมว่า ไม่ได้เป็นคนให้สัญญา คือหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้มีคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีตนเป็นประธานนั้น คณะทำงานชุดนี้ก็รวบรวมข้อมูลทั้งหมด รวมถึงต้นต่อของปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร และตนก็ทำงานจนจบแล้ว แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่เห็นมีประเด็นอะไร
“วันนั้นระหว่างที่คุยกันกับตัวแทนของพี่น้องชาวจะนะ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคณะทำงานด้วย จึงเป็นที่มาที่ไปของเอ็มโอยูทั้ง 3 ข้อ ถามว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบไหม ถ้าเท้าความไปแล้ว กว่าจะออก เอ็มโอยูฉบับนั้น และเสนอเข้า ครม.วันนั้น ถกเถียงใน ครม. เกือบชั่วโมง ไม่ใช่ว่าผมไปตกลงเอง คงเป็นความเข้าใจผิด” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ คือการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลของพี่น้องชาวจะนะ ในส่วนของภาครัฐชัดเจนว่า หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว โดย ครม.รับทราบว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตามมติ ครม. เมื่อปี 2562 เราสรุปในเนื้อหาสาระของคณะทำงานไว้หมดแล้ว และขณะนี้ ศอ.บต.ก็เริ่มนับหนึ่งใหม่แล้ว โดยจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยวิจัยผลกระทบทั้งหมด แต่เรากลับไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวจะนะเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวจัดทำประชาพิจารณ์เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคเอกชนเป็นคนดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์ว่าภาคเอกชนอาจจะกลับมาใช้กฎหมายปกติ โดยไม่ต้องผ่าน ศอ.บต. ไม่เกี่ยวกับภาครัฐเลย แต่ไม่มีใครประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในจุดนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงการออกมาระบุว่าจะขับเคลื่อนช่วยเหลือชาวจะนะในสภาผู้แทนราษฎรจะทำอย่างไร ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เวลานี้มีตัวแทนพี่น้องชาวจะนะเข้าไปร้องกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภา หลาย กมธ. ดังนั้น ต่อไปนี้ กมธ.ในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องขับเคลื่อนและทำให้พี่น้องชาวจะนะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น โดยการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนก็ได้รับจดหมายเชิญไปชี้แจงกรรมาธิการเช่นกัน ก็จะไปให้ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย เพียงแต่ไม่เข้าใจกัน