วันนี้ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับทวงคืนดุลอำนาจการปกครองของปวงชนไม่เพียงยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ต้องยกเลิกอำนาจของ ส.ส. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นการทำลายดุลอำนาจการปกครองของปวงชน ไม่ได้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ
โดบตามธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้นำของพรรคการเมืองที่ครองเก้าอี้ของ ส.ส. สูงสุดในสภาเป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับกรณีที่ผลการเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ และมีกลไกพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งในการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับกรณีที่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นเอกฉันท์ จะไม่มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจึงเป็นกลวิธีหนึ่งของคณะราษฎร เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยภายใต้คณะเผด็จการของคณะราษฎรไว้เสียเอง ตลอดจนสอดไส้ความเป็นสาธารณรัฐภายใต้ความเป็นราชอาณาจักร ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีมีลักษณะเป็นประธานาธิบดีมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันดุลอำนาจการปกครองอยู่ภายใต้นายทุนนักธุรกิจการเมืองทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ถือดุลอำนาจการปกครองของคนส่วนน้อยทั้งสิ้น ไม่ต่างจากคณะราษฎรในอดีต
ดังนั้น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จึงเป็นการทำลายดุลอำนาจการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือดุลอำนาจการปกครองของปวงชน อีกทั้งยังขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงวินาทีนี้