ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวได้ลดโทษเหลือไม่กี่ปีว่า เรื่องนี้เป็นเรี่องใหญ่ และสำคัญในระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะเป็นตัวอย่างหนึ่งหรือช่องทางหนึ่งในการคอร์รัปชั่นได้ ซึ่งมันอาจทำให้ล่มได้ รวมถึงส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวม มันจะส่งสัญญานผิดไปยังประชาชนว่า ฉันจะชั่วช้าเลวทรามอย่างไรทำได้ เดียวก็มีช่องรั่ว เพราะกว่าจะพิสูจน์ได้ว่านี่คือตัวร้าย ตัวอันตรายของประเทศชาติ ลำบากแสนเข็ญ แต่เสร็จแล้วมารั่วขั้นสุดท้าย ทั้งที่ทุกอย่างทำมาดีทุกขั้นตอน คิดง่ายๆช่วงเวลา 1 ปี 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ยังไม่ครบ 1 ปี 4 เดือนเลย มีประเทศไหนในโลกเข้าทำกัน ที่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์มหันตโทษทำลายประเทศชาติและเศรษฐกิจประเทศอย่างรุนแรง ได้รับอภัยโทษ 4 ครั้งติดกัน ซึ่งมันไม่มี ตนไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เรื่องใหญ่ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็ไม่มีใครเกรงกลัวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เวลาทำคนก็จับได้ยาก แล้วผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินมหาศาล กว่าจะจับได้ไล่ทัน เอาเข้าคุก 50 ปี แต่ติดอย่างมาก 8 ปี – 10 ปี ระหว่างอยู่ในคุกก็เป็นขาใหญ่ เพราะมีเงินมหาศาล มันสร้างโอกาสพิเศษให้คนพวกนี้ได้หมด แล้วออกมาคุ้มหรือไม่ โกงชาติเป็นพันล้าน หมื่นล้าน ทำให้ชาติเสียหายเป็นแสนล้าน นอนคุก 8 ปี 10 ปี จบ บางคน 6 ปีเศษ
ส่วนที่กระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่าเป็นการบริหารโทษ และถึงศาลจะตัดสินมาแล้ว ก็ต้องให้โอกาสคนที่ทำดีกลับสู่สังคมนั้น ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดไปแล้วก็เหมือนเราจะไม่เห็นใจกัน แต่การบริหารโทษ ไม่ใช่ทำตามใจชอบ ซึ่งท่านก็อ้างกฎหมาย อ้างระเบียบ แต่การบริหารกิจการใด ไม่ใช้เอากฎอย่างเดียว ต้องดูต่อไปว่า คุณทำถูกฎหมาย แต่คุณฝ่าฝืนสำนึกในความเป็นธรรมของสังคมและสุจริตชนส่วนใหญ่ในสังคมหรือไม่
ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ยังกล่าวถึงกรณีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ สามารถกำหนดความผิดที่จะไม่ได้รับการลดโทษในแต่ละครั้งได้ว่า รัฐมนตรีเป็นคนตั้งเรื่องยกร่างพระราชกฤษฎีกา แต่ก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากครม. อย่าไรก็ตามครม.ของเราวันหนึ่งก็พิจารณาร้อยเรื่อง อาจจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี และไม่ได้เห็นรายชื่อหรือรายละเอียด เพราะมีนักโทษเป็นหมื่นคน เนื่องจากเป็นการอภัยโทษทั่วไปในวาระอันเป็มงคล รวมถึงไม่มีการพูดถึงคดีทุจริตโกงบ้านกินเมือง อีกทั้งเกณฑ์การลดโทษยังเหมือนคดีอาญาพื้นบ้าน และเวลาแถลงต่อประชาชนก็เป็นคดีอาญาทั่วไป ไม่ใช่คดีพิเศษ และได้เกณฑ์ลดโทษดีด้วย ทั้งนี้ตนเห็นว่าทำไมไม่ใช้กฎเกณฑ์เมื่อปี 2559 ซึ่งไม่เคยเสียหายเลย อย่างไรก็ดีเมื่อทำไปแล้ว ก็อย่าตำหนิกันมาก เราควรแก้ไขดีกว่า ซึ่งตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. และขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเสนอ โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายราชทัณฑ์กฎหมายอาญา หรือรัฐธรรมนูญ แต่หากปล่อยไปแบบนี้ จะมีการแย่งกันมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ส่วนการคเลื่อนไหวของหมอเหรียญทองนั้น ตนมองว่ายาก เพราะเราไม่อยากให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ก็มีทาง เพราะแม้แต่พระราชกำหนดที่ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยได้ว่า ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ฉันใดเรื่องนี้มันแค่พระราชกฤษฎีกา และรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่ากฎหมายใดหรือระเบียบข้อบังคับขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ ฉะนั้นในแนวทางของหมอเหรียญทองที่ต้องการจะแก้ไขย้อนหลังพอมีทางทำได้ แต่ทำได้ยาก ต้องรู้กลไกวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้ละเอียด และต้องเข้าให้ถูกช่องทาง ไม่อย่างนั้นจะถูกตีตก