วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda โดยระบุว่า อัตราประชาชนที่ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับที่อื่นๆในโลก เริ่มลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่จำนวนวัคซีนขณะนี้ว่ากันว่ามีเหลือเฟือในประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงควรรีบกระตุ้นผลักดันออกแรงกันใหม่ไหมครับ
เหตุผลที่ได้จากข้อมูลที่มีผมคาดว่าการลดลงของการฉีดวัคซีนน่าจะเกิดจาก
1)นโยบายการใช้และฉีดวัคซีนที่มีหลายๆชนิด มีความสับสน โดยเฉพาะแนวทางการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประกอบกับข่าวข้อมูลที่สับสนในการแปลผลและใช้ผลตรวจระดับภูมิคุ้มกันในสังคม
2)ศูนย์ฉีดหลายๆ ได้ปิดตัวลง โดยเฉพาะในตัวเมือง ที่กลับต้องเริ่มมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ในขณะที่การกระจายฉีดวัคซีนในที่ห่างไกลยังมีปัญหา (ต้องไม่ลืม Omicron ว่ามันไปซุ่มเกิดและฟักตัวในกลุ่มประชากรที่ห่างไกลแบบนี้นะครับ อย่าได้นอนใจ!!!)
3)ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่อยากฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนประเภทใหม่ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลในระยะยาวทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก หน่วยงานที่ควรอธิบายก็ไม่อธิบายให้ชัดเจนและต่อเนื่อง
4)ขาดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับวัคซีนในเด็กวัยเรียน ที่จะต้องเปิดเรียนตามปกติในเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีใครเมตตาจริงจัง
5)วัคซีนที่มีเป็นจำนวนมากนั้นอายุใช้งานสั้น กำลังคนระดมฉีดให้ไม่ทัน จึงมีบางกลุ่มที่ใฝ่หาวัคซีนที่มีช่องทางได้รับวัคซีนได้ไปครบถ้วนกว่าบางกลุ่ม เกิดเป็นช่องว่าง (ไว้ให้เชื้อไปกลายพันธุ์ในกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีนแล้วรอวันเชื้อมันกลับมาเล่นงานกลุ่มที่ได้วัคซีนไปสมบูรณ์กว่าอีกครั้ง)
6)ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับรวดเร็วทันเหตุการณ์ มากกว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายการฉีดวัคซีน และชนิดวัคซีนให้ทันเหตุการณ์ คนจึงไม่มั่นใจทำให้บางคน “รอ”
อาจจะมีเรื่องเหตุผลอื่นๆที่ผมอาจคาดไม่ถึงอีก แต่ตามที่ลิสต์มานั้น น่าจะเพียงพอให้ทุกๆคนและผู้มีหน้าที่ ปรับตัวและจัดการฉีดวัคซีนให้ได้ทั่วถึงทุกกลุ่มดีขึ้นครับ