วันที่ 24 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาสุกรที่สูงขึ้น ในปัจจุบัน สร้างความเดือดร้อนให้กับแม่ค้าชำแหละสุกรขาย เพราะรับจากหมูต้นทางมาราคาสูง จึงต้องปรับคาราหน้าเขียงตามไปด้วย เช่นเดียวกับผู้บริโภค ที่ต้องบริโภคน้อยลง เพราะสู้ราคาไม่ไหว
นางสุภัสสร นาคเสน อายุ 46 ปี อยู่เลขที่ 82 หมู่ 19 ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เจ้าของเขียงหมูริมถนนสายบุรีรัมย์-สตึก กล่าวว่า ตอนนี้หมูเป็นหน้าฟาร์ม ราคา กก.ละ 95 บาท และเตรียมขึ้นในเร็วๆนี้อีก 5 บาท เป็น กก.ละ 100 บาท จากปกติ65-75 บาทเท่านั้น ทำให้เขียงหมูต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ตอนนี้ขายอยู่ที่ กก.ละ 160-180 บาท ตามชนิดของเนื้อ การปรับขึ้นราคาดังกล่าว รู้สึกเห็นใจผู้บริโภค ถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้บริโภค กินเนื้อหมูให้น้อยลง แล้วหันมากินผักมากกว่า แต่ถ้าหิวเนื้อหมู ตนพร้อมจะขายให้ทุกราคา จะมาซื้อครั้งละ 30-40 บาท ตนก็ขายให้
ขณะที่นางไพรลิน บุญช่วย อายุ 35 ปี ลูกค้าที่มาซื้อเนื้อหมูบอกว่า ที่ผ่านมาจะซื้อเนื้อหมูไปไว้ในตู้เย็นครั้งละ 2 กก. แต่ตอนนี้ซื้อครั้งละ 1 กก. เพราะราคาแพงเกินไป จึงอยากจะให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบในขณะนี้
ด้านนายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาระบุว่า สาเหตุที่หมูปรับขึ้นมาคา เกิดจากปริมาณหมู่แม่พันธุ์ลดลงจาก 1.2 ล้านตัว เหลือเพียง 6 แสนตัว จากข้อมูลทั่วประเทศ หรือหมูหายไปจากระบบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับราคาวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารสัตว์ ถีบตัวสูงขึ้น อาทิเช่น มันสำปะหลังสด(คละ)ปรับตัวจากคารา กก.ละ 2 บาท เป็น 2.50 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับตัวจาก กก.ละ 9 บาท เป็น 10.55 บาท เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกมีสูงขึ้น โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่นำไปทำเป็นแอลกอฮอล์ และพลังงานทดแทน ซึ่งมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรท ที่สำคัญ ต่อสุกร จึงผลักดันให้ราคาหมูเป็นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันราคาหมูเป็นอยู่ที่ กก.ละ 91.95 บาท ทำให้ราคาหมูเนื้อแดง 160-170 บาท/กก. โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีโครงการพาณิชย์ ลดราคา ช่วยประชาชน Lot 14 จำหน่ายหมูเนื้อแดง ราคาไม่เกิด กก.ละ 130 บาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วงที่เกิดสถานการณ์หมูเป็นปรับตัวสูงขึ้น ระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน ระหว่างวันที่ 14 พ.ย.- 23 ธ.ค. 2564 แต่หากราคาหมูยังปรับราคาสูงขึ้นอีก สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ จะขอรับเงินสนับสนุนจากกรมการค้าภายใน เพื่อจำหน่ายหมูเนื้อแดง ราคา กก.ละ 130 บาท เหมือนครั้งที่ผ่านมาอีก
ทั้งนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการโครงการพาณิชย์จับคู่ช่วย หมู-ข้าว”ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในช่วงภาวะราคาตำต่ำ และช่วยเพิ่มทางเลือกในการนำข้าวมาทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ปรับราคาเพิ่มสูขึ้น เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ได้มีการลงนาม MOU เพื่อดำเนินการส่งมอบปลายข้าวและรำ จากโรงสีสหพัฒนาการค้าพุทไธสง และโรงสีข้าวเจริญกิจพูนผล อ.เมือง กับบริษัท อาร์เอ็มซีฟาร์ม ประมาณส่งมอบ ปลายข้าวทั้งสิ้น 60 ตัน (ตันละ 11,000 บาท) รวมมูลค่า 660,000 บาทโดยจะมีการส่งมอบต่อไปจนถึงเดือน ก.พ. 2565 โดยกำลังการผลิตผลิตอาหารสัตว์ของ อาร์เอ็มซีฟาร์ม ซึ่งใช้วัตถุดิบวันละ 50 ตัน คาดว่าเมื่อถึงวันที่ 28 ก.พ. จะมีการส่งมอบครบถ้วนตามที่ได้รับการ MOU ไว้รวมทั้งสิ้น 7,299 ตัน
สำหรับโครงการพาณิชย์จับคู่ช่วย”หมู-ข้าว”ได้มีการลงนามใน MOU จำนวน 50,199 ตัน มูลค่า 535 ล้านบาท โดยเป้าประสงค์ของโครงการคือ วิน วิน 2 ด้อง ได้ช่วยระบายข้าวให้กับเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม และช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงสุกร เตรียมเดินหน้าทำต่อเป้า 1.5 แสนตัน คาดราคาข้าวจะขยับขึ้น.
ภาพ/ข่าว เรืองรุจ วังแจ่ม ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.บุรีรัมย์