“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ถอดบทเรียนโควิดฯ ชง 4 มาตรการหนุนการปฏิบัติหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” หารือร่วม “ศบค.-สธ.” พร้อมหน่วยงานทางการแพทย์ ถอดบทเรียน “โควิด-19” ชง 4 มาตรการหนุนการปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน หารือร่วมกับ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม รวมถึงกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนโควิด-19 เร่งวางแผนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ เตรียมรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 อาจพบปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องขึ้นในระยะแรก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งต้องแบกรับภาระในการตรวจรักษา และดูแลผู้ป่วยต้องเสี่ยงติดเชื้อ เจ็บป่วย และเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นว่า แม้ปัจจุบันจะสามารถบริหารจัดการ ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ได้ดี แต่เมื่อมีแนวโน้มของการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่เทศกาลขึ้นปีใหม่ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้ง ประเทศไทยจึงควรเตรียมพร้อมแผนรับมือด้านสาธารณสุขล่วงหน้าเพื่อให้การบริหารจัดการต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้หยิบยกกรณีดังกล่าวมาพิจารณา ศึกษา แสวงหาข้อเท็จจริง เร่งถอดบทเรียนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จนสรุปปัญหาและอุปสรรคจากการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขได้ 4 ด้าน คือ 1) ด้านการบริหารจัดการ 2) ด้านกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3) ด้านงบประมาณ 4) ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงทั้งหมดยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และโรคระบาดฉุกเฉินอย่างรวดเร็วรอบคอบ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ดังนี้1.ด้านการบริหารจัดการ รัฐโดย ศบค. ควรนำปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากระบบการบริหารจัดการเตียงของสถานพยาบาลไปถอดบทเรียน และวางแนวทางการบริหารจัดการเตียงและส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำระบบ Home Isolation ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยรอเตียง เตรียมรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ หรือการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต โดย ศบค. ควรมีการวางยุทธศาสตร์ด้านการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและเหมาะสม โดยให้นิยามของบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าครอบคลุมไปถึงผู้ที่ให้บริการสาธารณสุขบางประเภท ซึ่งถึงแม้จะมิได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลภาครัฐ แต่เป็นผู้ที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น เภสัชกรประจำร้านขายยา เป็นต้น ศบค. ควรวางแผนงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำระบบอาสาสมัครหรือจิตอาสาสำหรับช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้จิตอาสาเข้ามาอยู่ในระบบและเกิดการขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งศบค. ควรมีมาตรการในการควบคุมและจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบและหลบหนีเข้าประเทศ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า 2.ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รัฐโดยศบค.ควรรวบรวมข้อติดขัดด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนของทางราชการเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด – 19 รวมถึงวัคซีนอื่น ๆ ที่จะมีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นในอนาคต และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดดังกล่าวโดยเร็ว ศบค. ควรศึกษาข้อติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ รวมถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับการการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้เกิดความคล่องตัว ลดขั้นตอนในการดำเนินการ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ พัสดุสำหรับการป้องกัน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด รวมทั้งควรมีกลไกคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน หรือยารักษาที่เป็นส่วนเกินหรือหมดอายุ กระทรวงการคลังควรเร่งประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขตามอัตราใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว รวมทั้งพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีการกำหนดในอัตราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือคุณวุฒิ ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ในตำแหน่งใดต่างก็มีความเสี่ยงภัยเช่นเดียวกัน
ศบค. ควรศึกษาข้อจำกัดและวางระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากทุกระบบได้รับการรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถให้บริการการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกรายด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ป่วยใช้สิทธิการรักษาในระบบใด

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า 3.ด้านงบประมาณ รัฐโดยศบค.ควรศึกษาหาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนกลางสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือในภาวะฉุกเฉินขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สถานพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น ๆ ได้หรือไม่ ศบค. ควรมีการจัดสรรงบประมาณและให้การสนับสนุนระบบการรักษาพยาบาลทางไกลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Telemedicine On Social Network) ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดงานที่ซ้ำซ้อน ประหยัดเวลา ในการรักษาพยาบาลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยด้วย ศบค. ควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยสามารถผลิตวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคที่มีมาตรฐาน โดยมิต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ 4.ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร รัฐโดย ศบค. ควรจัดตั้งหน่วยหรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่โดยเฉพาะ เพื่อให้มีศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน อีกทั้งควรมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน อนึ่ง ควรเน้นให้สำคัญทั้งการพัฒนาการสื่อสารกับประชาชน การสื่อสารภายในองค์กร และการสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“การรับมือโควิด – 19 ของประเทศไทยผ่านมาได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จิตอาสา และประชาชน สิ่งจำเป็นหนึ่ง คือ การสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และการพัฒนาระบบการทำงานและสนับสนุนจิตอาสาต่าง ๆ เช่น อาสาสมัคร และพยาบาลอาสา ที่เข้ามาร่วมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเสนอต่อรัฐ ผ่าน ศบค. เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

พ่อเลี้ยงหื่น! มอมเหล้าลูกเลี้ยง วัย 16 ปี จนขาดสติก่อน ลวนลาม ขณะแม่อยู่ด้วยก็ไม่เว้น เครียดหนักเคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย สุดอึ้ง!! เอาเรื่องไปบอกแม่ กลับไม่เชื่อ
พล.ต.ท.ธนายุตม์ ยื่นสำนวนคดี “แอม ไซยาไนด์” ให้อัยการด้วยตัวเอง 14 รายการ
ราชกิจจาฯเผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้ชื่อใหม่ "เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี"
“แม่สามารถ” เครียดจัด ผูกคอคาห้องขังดีเอสไอ จนท.ช่วยระทึก ห่วงลูกจะอดข้าวประท้วง ขอความเป็นธรรม
เคราะห์ร้าย ! หนุ่มวัย 18 ปี ขี่จยย. ถูกกันสาดหล่นใส่หัวเจ็บสาหัส
ยูเครนลั่นไม่ทำลายทุ่นระเบิดอ้างถูกรัสเซียรุกราน
ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบดำเนินคดี “กลุ่มน้ำไม่อาบ” ทุกมิติ พร้อมเอาผิดตามหลักฐานคลิปที่ปรากฏ
ขุนเขา ‘ฮว่าซาน’ ่ของจีนสวยสะกดยามห่มหิมะขาว
ทหารพรานจัดกำลังตรวจค้นเก็บกู้บ่วงดักสัตว์ป่า
ผลักดัน ! แรงงานต่างด้าวมากกว่า 100 ราย ออกนอกประเทศ หวั่นเกรงมาสร้างความวุ่นวายในพื้นที่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น