เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอัพเดตสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในไทยว่า วันพรุ่งนี้ (27 ธ.ค.) ช่วงเช้าในการประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข จะมีการหารือถึงประเด็นต่างๆ รวมถึงมาตรการรับมือโควิด-19 และช่วงบ่ายจะมีการแถลงข่าวอัพเดตการระบาดโควิด-19 หลังปีใหม่ ซึ่งจะเป็นการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเทียบกับการปฏิบัติตามมาตรการที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน โดยปกติเราจะทำใน 3 ฉากทัศน์คือ 1.สถานการณ์แย่ที่สุด (Worst Case Scenario) 2.ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ (Plausible Scenario) และ 3.ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) เพื่อดูว่าหากจะให้สถานการณ์ดีที่สุด ต้องทำอะไรบ้าง ปานกลางต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เราออกมาตรการออกมาเป็นแนวทางให้ประชาชน
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังรวบรวมข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสของสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งจะอัพเดตตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน และคลัสเตอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 ธ.ค.) พร้อมกับการแถลงฉากทัศน์ ทั้งนี้ย้ำว่าสถานการณ์ล่าสุดข้อมูลจากประเทศอังกฤษที่ติดโอมิครอนเป็นแสนราย แต่อัตราเสียชีวิตไม่มาก แต่ข้อสรุปเบื้องต้นคือ แพร่เร็วแน่นอนส่วนคนที่เคยติดเชื้ออื่นหรือได้รับวัคซีนป้องกันมาแล้วก็แพร่ได้ แต่วัคซีนช่วยไม่ให้อาการรุนแรงได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ในปีใหม่ประชาชนเดินทางกันมากขึ้น มีการเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ดังนั้นคำแนะนำที่สำคัญคือ การคัดกรองตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK สร้างความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อจำกัดในตัวเอง หากตรวจไม่ถูกวิธี ตรวจในวันแรกๆ เชื้อน้อยๆ ตามหลักความจริงก็คือ อาจจะหาไม่เจอ ยังไงก็ต้องระวัง แต่ไม่อยากให้ยึดเป็นสรณะ เพราะ การตรวจครั้งแรกเป็นลบ แต่ต้องมีการตรวจซ้ำใน 3-5 วันถัดไป ระหว่างนั้นก็ต้องป้องกันตัวเอง หากมีความเสี่ยงก็ควรแยกตัวออกจากผู้อื่นให้มากที่สุด แต่สำหรับคนที่มีการตรวจเป็นซีเรียล คือตรวจบ่อยทุกๆ 3-5 หรือ 7 วันถือเป็นสิ่งที่ดี ตรวจได้บ่อยก็ยิ่งดี ซึ่งตอนนี้หาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูกลง สิ่งที่เน้นย้ำคือ การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ ต้องมีความถูกต้อง ปั่นไม้ที่จมูกต้องปั่นข้างละ 5 รอบ ให้ติดน้ำมูกที่อยู่ตรงเพดานจมูก ไม่ใช่ปั่นแล้วไม่โดน เวลาตรวจก็อาจจะไม่เจอเชื้อได้
“หลักทางระบาดไม่ว่าจะเครื่องมือใดก็ตาม หากช่วงที่ภาพรวมการติดเชื้อต่ำ ก็จะหาไม่เจอ จะมีผลลบปลอม(false negative) เยอะ แต่หากตอนที่ติดเชื้อสูง มันก็ช่วยได้ อย่างตอนที่เราติดเชื้อเป็นหมื่นราย ตรวจ ATK ก็เจอผลบวกเยอะ แต่เมื่อติดเชื้อวันละ 2 พัน ภาพรวมก็เหลือ 1-2% ก็จะหาไม่ค่อยเจอ ซึ่งเป็นหลักระบาดทั่วไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
เมื่อถามว่าประชาชนควรจะตรวจ ATK ในช่วงไหน ก่อนการเดินทางหรือเข้าร่วมกิจกรรม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็มีคนถามเยอะว่า หากจะต้องเดินทางวันนี้ จะต้องเมื่อไหร่ ซึ่งอธิบายตามหลักการคือ หากจะเข้าร่วมกิจกรรมกับใคร ก็ขอผลตรวจให้ล่าสุดจะดีที่สุด ส่วนการเดินทางกลับมาจากภูมิลำเนา หรือหลังเข้าร่วมกิจกรรม ก็แนะนำว่าตรวจซ้ำได้ เพราะ ATK ราคาถูก หากมีความเสี่ยงก็ตรวจบ่อยทุก 3 วันก็ได้
“สมมติว่าจะดูคอนเสิร์ตเย็นนี้ ให้ตรวจก่อนเข้างานก็ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าตรวจ 3-5 วันที่แล้ว แล้วเอาผลมาขอเข้างาน แบบนี้ก็อาจผิดพลาดได้เยอะ ดังนั้นหากจะตรวจครั้งเดียวให้เอาผลล่าสุด แต่หากตรวจเป็นระยะ เป็นซีเรียล ATK อันนี้ไม่เป็นไร ตรวจบ่อยแค่ไหน ก็ดีมากขึ้นเท่านั้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว