นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62 ถึง 23 ธ.ค 64 มีจำนวน ผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1%
สำหรับกลุ่มอาชีพที่สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดความเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8%
ขณะที่ กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0% ตามมาด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%
“ต้องขอขอบคุณสำนักข่าว และอินฟลูเอนเซอร์หลายราย ที่สนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชน และสาธารณะในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง”
โดยในรอบปี 64 มีรายชื่อสำนักข่าว และ Influencer ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมากสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ไทยรัฐ ,จส.100 ,มติชน, บางกอกโพสต์ FM91 Trafficpro ข่าวจริงประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจ News.ch 7 โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก ตามลำดับ
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ในปี 65 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะมุ่งเน้นกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับเยาวชน จนถึงเครือข่ายภาคประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา ขณะที่มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ANSCOP เพื่อให้การควบคุม กำกับดูแล สั่งการ และบริหารราชการ ให้เป็นเอกภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์และมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน พร้อมกันนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 1-9 เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่และสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวและข้อมูลปลอมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ANSCOP มีการบูรณาการประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวและข้อมูลปลอมอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย หรือ AFNC รับผิดชอบในการรับเรื่อง ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลข่าวที่อาจมีลักษณะปลอมหรือบิดเบือนอยู่ตลอดเวลา มีการประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทุกส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบและยืนยันข่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือนแล้ว ก็จะส่งต่อข้อมูลดังกล่าวมายัง
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ANSCOP เพื่อดำเนินการพิจารณาความผิดตามหลักกฎหมายที่กำหนดไว้ อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายจะดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิด เมื่อผู้เสียหายได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน ติดตามจับกุม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
โดยในรอบ 8 เดือน ( 1 พ.ค. จนถึง ปัจจุบัน) พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย หรือ AFNC ได้ส่งโพสต์ที่ตรวจพบและตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน จำนวน 1193 ราย (Urls) มีโพสต์ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการพิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดแล้ว จำนวน 287 ราย (Urls) ซึ่งมีผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว จำนวน 53 คดี ซึ่งอยู่ในระหว่างสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และทำสำนวนคดี ส่งฟ้องตามกระบวน
การยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ดำเนินการตักเตือน ให้แก้ไขข่าวหรือลบโพสต์ จำนวน 36 ราย ตามที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่จะทำได้ในกรณีข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 ที่ไม่รุนแรง อีกทั้งยังได้ขึ้นบัญชี ที่ต้องเฝ้าติดตามผู้ที่มีพฤติการณ์โพสต์ข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน จำนวน 906 ราย (Urls)
หากพบมีการโพสต์ข่าวหรือข้อมูลปลอม ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ในขณะเดียวกันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข่าวของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท. เพื่อปบัติการชี้แจงและตอบโต้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวหรือลบโพสต์ ที่ไม่ถูกต้องหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยการเข้าไป ติดต่อด้วยความสุภาพ แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของข่าว ที่อาจปลอมหรือบิดเบือน ไปบนสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้าง โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินการแล้ว จำนวน 423 ราย (Urls) ทำให้ผู้โพสต์หยุดเคลื่อนไหวหรือมีการลบโพสต์ดังกล่าวขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องประชาชน ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่า ขอให้ท่านระลึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อใช้สื่ออนไลน์ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” ทุกท่านจะปลอดภัยจากการถูกฉ้อโกง หลอกลวง บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแน่นอน