เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ห้องจามจุรีบอลรูม A โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวง อว. นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผช.ผอ.พอช. นางสาวสุมล ยางสูง ผอ.ภาค กทม.และปริมณฑล นายธาราศานต์ ทองพัก ผช.ผอ.ภาคฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมในการร่วมหารือ เช่น นายจาดุร อภิชาตบุตร ทปษ.บพท. ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการ บพท. นางสาวจิรกา นุตาลัย ทปษ.แผนงาน ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.ดร.กุณฑลทิพย์ พาณิชภักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกรณิศ บัวจันทร์ ผอ.เขตคันนายาว นางสาววรุณลักษณ์ พลหาญ ผอ.เขตพระโขนง นายธวัชชัย จันทร์เส ผช.ผอ.เขต ดุสิต ร่วมประชุมหารือการพัฒนากรอบการวิจัยและบูรณาการความร่วมมือ กทม.-บพท-พอช. ภายใต้”โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชีวิตคนเมือง”
โดยนางสาวจันทนา กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อค้นคนจนที่แท้จริงในพื้นที่เป็นใครอยู่ที่ไหน จนด้วยสาเหตุอะไร และจะใช้ทุนเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืนได้อย่างไรถือเป็นการทำงานแบบปูพรมและแก้ไขปัญหาผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการ ผ่านกลไกการทำงานที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ที่นอกจากจะทำให้เกิดระบบช่วยเหลือในแบบสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และระบบการสร้างการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เกิดรายได้ สามารถดูแลตนเองและครอบครัวอย่างพอเพียง โดยทั้งหมดนี้จะนำไปสู่แผนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่โดยมีกลไกแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะขับเคลื่อนในระยะแรกในเขตดุสิต เขตพระโขนง และเขตคันนายาว เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจนเมือง พัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน เชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาความยากจน และเพื่อพัฒนาต้นแบบการแก้จนแบบเบ็ดเสร็จในเขตเมือง
“การขับเคลื่อนงานในพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้บทบาทของ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะส่งเสริมให้องค์กรชุมชน เช่น เครือข่ายสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายบเานมั่นคง อพม.ลุกขึ้นขึ้นมาทำงานร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง3 เขต และภาคีอื่น ผ่านการจัดทำข้อมูลกลุ่มเปาะบางเชิงลึก มาจัดทำเป็นแผน 3 ปี โดยมีแผนงานและโครงการที่สามารถใช้ในการสนับสนุน ประกอบด้วยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดสวัสดิการชุมชนขององค์กรชุมชน การช่วยเหลือการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและเปาะบาง เช่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียง เป็นต้น”นางสาวจันทนา กล่าว.