สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (หรือ FDA) เปิดเผยในแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ กำลังร่วมมือกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (หรือ NIH) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการทดสอบแบบแอนติเจน (หรือ ATK) กับตัวอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอน ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า สามารถตรวจจับว่าติดเชื้อโอมิครอนได้ แต่ความแม่นยำไม่ดีเท่าที่ควร โดยก่อนหน้านี้ การทดสอบได้เน้นไปที่ตัวอย่างไวรัสที่ตายด้วยความร้อน มากกว่าเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตซึ่งเป็นตัวทำให้การทดสอบมีประสิทธิภาพลดลง
อย่างไรก็ดี FDA ยังคงอนุญาตให้ใช้การทดสอบแบบแอนติเจนต่อไป เนื่องจากยังคงสามารถตรวจจับโปรตีนบนพื้นผิวของเชื้อไวรัสได้ แต่แนะว่าผู้ใช้งานควรปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น หากทดสอบแบบ ATK ก็ควรตรวจหาเชื้อประมาณ 2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีผลตรวจเป็นลบแน่นอน หรือหากประเมินว่าตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วย หรืออยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโอมิครอน ก็ให้ไปทำการทดสอบแบบ PCR เพื่อได้ผลที่แน่นอนกว่า