วันที่ 31 ธันวาคม ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2564 เกิดอุบัติเหตุ 422 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 426 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (29-30 ธ.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 784 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 786 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็น ศูนย์) มี 46 จังหวัด ประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนถนนทางหลวง เส้นทางสายรอง ถนน อบต.และหมู่บ้าน คุมเข้มขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงขอให้ประชาชนเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้เทศกาลปีใหม่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปลอดภัย
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 422 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 426 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.20 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 29.60 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.70 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.80 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 43.1 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 32.9 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 22.70 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 16.10 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,911 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 62,318 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 269,597 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 46,796 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 14,484 ราย ไม่มีใบขับขี่ 11,866 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (21 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ร้อยเอ็ด (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (19 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (29-30 ธ.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 784 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 786 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 46 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (31 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ( 7 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เลย (32 คน)
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งมีการจัดงานสังสรรค์กับครอบครัวและญาติมิตรภายในครอบครัวและหมู่บ้าน อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะถนนทางหลวง เส้นทางสายรอง ถนนอบต.และหมู่บ้าน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในเส้นทางดังกล่าวเป็นพิเศษ คุมเข้มขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน พร้อมคุมเข้มกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยและไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนอง ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เทศกาลปีใหม่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปลอดภัย