วันที่5ม.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยตอนหนึ่งว่า ขณะที่การจำแนกสายพันธุ์จากข้อมูลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 4 มกราคม 2565 พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้า 78.91% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 20.92% คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยโอมิครอน 2,338 ราย กระจายไป 55 จังหวัด
สำหรับกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อยังเป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยจังหวัดที่ฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวได้น้อย ต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษา ทั้งโรงพยาบาล และแยกรักษาที่บ้านและในชุมชน ซึ่ง 10 จังหวัด ที่มีการฉีดให้กลุ่มดังกล่าวน้อยที่สุดประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
ส่วนคลัสเตอร์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ การแพร่ระบาดในร้านอาหารที่มีลักษณะกึ่งผับบาร์ ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานบันเทิงย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ส่วนพะเยา ขอนแก่น เป็นร้านลักษณะผับกึ่งบาร์ ที่ชลบุรี เป็นร้านเหล้า ที่มหาสารคามพบในร้านอาหารกึ่งผับ ขณะที่อุดรธานี อุบลราชธานี และกทม. พบในสถานบันเทิง ทั้งนี้จากการลงไปสอบสวนโรค ซักประวัติผู้ติดเชื้อ พบว่าร้านอาหารเหล่านี้ไม่ได้เปิดแค่ในช่วงปีใหม่ แต่เปิดมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วง หากมีการติดเชื้อในสถานที่เหล่านี้จะแพร่ระบาดจำนวนมาก มีโอกาสเป็นต้นเหตุให้แพร่ระบาดไปชุมชนคล้ายกับการระบาดจากย่านทองหล่อ เหตุการณ์ดังกล่าวกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลานาน และหากดูการคาดการณ์การติดเชื้อหลังเทศกาลปีใหม่ ที่ในปัจจุบันเส้นกราฟกระดกขึ้น หากประชาชนไม่ได้ทำตามมาตรการความปลอดภัยและหน่วยงานองค์กรมีความหละหลวม จะพบเห็นภาพคนติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์นี้เป็นหลักหลายหมื่นซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น