เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ที่ 3/2565 ลงวันที่ 9 มกราคม 2565 เรื่อง การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (The Blue Zone) ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมานายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้มีข้อกำหนดจังหวัดชลบุรี ได้กำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (The Blue Zone) นั้น
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏกรณีไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ให้ดำเนินการในทุกท้องที่จังหวัดชลบุรี ดังนี้
1.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาเพื่อดำเนินมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ตั้งหน่วยงานหรือสถานประกอบการ (Work From Home) ตามความเหมาะสมเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรค โดยให้ดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.25652.ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงภัตตาคาร ร้านอาหาร สวนอาหาร ศูนย์อาหารโรงอาหาร สตรีทฟู้ด ร้านอาหารในโรงแรม หรือที่พัก หรือสถานประกอบการอื่นใดที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานประกอบการได้ตามปกติ โดยอนุญาตให้มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ในร้านได้ เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ในระดับ SHA Plus ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น โดยเปิดให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในสถานประกอบการดังกล่าวได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีกำหนด ดังนี้
2.1 ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบภายในสถานประกอบการ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโดยให้พนักงาน นักดนตรี นักแสดง ทุกคนต้องผ่านการตรวจด้วยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARCoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATI ก่อนให้บริการเป็นประจำทุกวัน2.2 ให้ผู้ประกอบการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบภายในสถานประกอบการ จัดให้มีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SAR COV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK ให้กับผู้รับบริการ หรือผู้รับบริการจะต้องแสดงหลักฐานผลการตรวจเป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าใช้บริการ
2.3 หากสถานประกอบการใดไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการข้อ 2.1และข้อ 2.2ได้ให้หยุดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว
3.การเตรียมความพร้อมของสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ยังคงมีความจำเป็นให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน
หากผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ตามวรรคหนึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้ รับการตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2565 ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติตตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดการให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ตามวรรคหนึ่งที่ได้ปรับรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวจะต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ด้วย
4.ให้นายอำเภอท้องที่ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับอำเภอ (ศปก.อ.) เป็นผู้รับผิดชอบ กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการตามคำสั่งนี้โดยเคร่งครัดรวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
บรรดาข้อความใดของคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ขัดหรือแย้งกับคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีฉบับนี้ ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้ และบรรดาข้อความใดของคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ที่มีผลบังคับใช้ก่อนหน้าและมิได้ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ยังคงใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ หากผู้ใดหรือหน่วยงาน หรือสถานประกอบการใดที่เกี่ยวข้อง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีนี้ต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมทั้งอาจมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนด อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง