วันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทยว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วมากกว่า 5,000 ราย ครบทุกเขตสุขภาพ ครอบคลุมใน 71 จังหวัด มีเพียง 6 จังหวัดที่ยังเป็นสีขาว ไม่มีรายงานการพบเชื้อ คือ น่าน ตาก ชัยนาท อ่างทอง พังงา และ นราธิวาส ส่วน 10 จังหวัดที่พบเกิน 100 ราย คือกรุงเทพมหานคร 1,820 ราย ชลบุรี 521 ราย ภูเก็ต 288 ราย กาฬสินธุ์ 249 ราย ร้อยเอ็ด 237 ราย สมุทรปราการ 222 ราย สุราษฎร์ธานี 199 ราย มหาสารคาม 163 ราย อุดรธานี 149 ราย และขอนแก่น 136 ราย อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศแล้วตรวจ RT-PCR ผลเป็นบวก เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมพบเป็นโอมิครอน ร้อยละ 90 สำหรับในประเทศ ได้มอบหมายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจสัปดาห์ละ 140 ตัวอย่าง เพื่อให้ได้สัดส่วนสถานการณ์จริงๆ
สำหรับเชื้อ “เดลตาครอน” ตามที่มีกระแสข่าวในประเทศไซปรัส อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า ได้หารือกับจีเสส กรณีที่มีรายงาน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ไซปรัส ส่งข้อมูลไปที่จีเสสเป็นข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบว่าใน 24 ตัวอย่างมีการกลายพันธุ์ทั้งในส่วนที่เป็นเดลตาและโอมิครอนอยู่ด้วยกัน แต่จากการตรวจเพิ่มพบส่วนที่เป็นโอมิครอนมีความเหมือนกันหมด แต่ว่าส่วนที่เป็นเดลตามีความแตกต่างกันไป ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆ จะต้องตรวจทั้งสองฟากเหมือนกันไม่ใช่ตรวจแล้วมีแค่ฟากเดียวที่มีความแตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 120 สายพันธุ์ ฉะนั้นที่ไซปรัสสรุปว่า จีเสสยังจัดชั้นการค้นพบ 24 รายนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และโอกาสที่จะเกิดได้มากที่สุดคือการปนเปื้อนในสิ่งส่งตรวจ คือติดเชื้อเดลตา แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอน ทำให้พบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน และอีกหนึ่งอย่างที่อาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่มาก คือการติด 2 สายพันธุ์ ในคนเเดียว ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพราะ 24 ตัวอย่างที่มาพร้อมกัน จะเป็นการติดต่อ 2 สายพันธุ์เป็นไปได้น้อย แทบจะไม่มีโอกาสได้เลย ถ้าซื้อหวยก็ฟันธงได้เลยว่า ที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นลูกผสม เป็นไฮบริดนั้น โอกาสน่าจะเป็นศูนย์เลยจากคาแร็กเตอร์ที่เจอ แต่กรมวิทยาศาสตร์ฯก็จะติดตามข้อมูลต่อไป