วันที่ 12 มกราคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ “โควิด 19 โอมิครอน หลังจากที่มีการระบาดมาแล้ว 2 เดือน” มีเนื้อหาดังนี้ ยง ภู่วรวรรณ 12 มกราคม 2565 มีข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับ โอมิครอน เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว โอมิครอน ระบาดได้รวดเร็วมาก กระจายไปทั่วโลก พบแล้วมากกว่า 140 ประเทศ หรือจะเรียกว่าทั่วโลกก็ได้ แสดงถึงการขยายตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก และกำลังจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า
โอมิครอน ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อ โอมิครอน มีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา อัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า และภาพรวมอัตราการตายของ โอมิครอน ก็ลดลงกว่าสายพันธุ์ หรือที่มีการระบาดก่อนหน้านี้
การตรวจวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็น RT-PCR หรือการตรวจอย่างรวดเร็วด้วย ATK ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ เพราะ RT PCR ส่วนมากเราใช้ยีน N และ RdRp ที่มีความคงที่ ส่วน RDT ก็เป็นการตรวจ nucleocapsid ไม่ใช่เป็นการตรวจหา spike protein ซึ่งส่วนของ nucleocapsid มีความเสถียรมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น AZ หรือ mRNA ส่วนใหญ่มีเป้าหมายอยู่ที่ spike protein ที่ โอมิครอน มีการเปลี่ยนแปลงมาก จึงทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่ผ่านมาลดลง ประกอบกับ ระยะฟักตัวของโรคสั้น จึงต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดเวลาในการป้องกันการติดโรค เมื่อภูมิต้านทานลดลงก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ แต่กระบวนการกำจัด หรือหายจากโรค อาศัยระบบภูมิต้านทานส่วนอื่นด้วย จึงทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน มีอาการของโรคน้อยลง และจะหายจากโรคได้เร็วกว่า
ทุกครั้งที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นจะมีผลต่อสุขภาพร่างกาย เศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ ผลกระทบทางจิตใจ ในบางครั้งมีความสำคัญมากกว่าทางร่างกายเสียอีก
สังคมปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสาร ถึงกันได้อย่างรวดเร็วมาก มีการสื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ในบางข่าวจะมีความจริงเพียงเล็กน้อยและใส่ความเห็นเป็นจำนวนมาก ความเห็นจะมีแนวโน้มเอียง หรือมีอคติได้ ข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคม จะต้องพิจารณาแยกแยะให้ได้