12 มกราคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้…
“หลังจากที่ติดตามข้อมูลมาสักระยะหนึ่ง ตอนนี้เหมือนจะชัดเจนขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินเดีย ว่า โอมิครอนตัวน้อง หรือที่ก่อนหน้านี้เรียกชื่อกันว่า โอไมครอนเวอร์ชันล่องหน (Omicron Stealth) หรือ BA.2 มีแนวโน้มการกระจายตัวเองได้ไวกว่าโอมิครอนรุ่นพี่ หรือ BA.1 ที่มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาใต้ ตัวเลขของตัวอย่างไวรัสที่ตรวจในหลายประเทศเห็นแนวโน้มแบบเดียวกันคือ ตัวอย่าง BA.1 เริ่มลดลง ขณะที่ BA.2 เริ่มสูงขึ้นชัดเจน
ถึงแม้ว่า BA.2 จะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือน BA.1 แต่ไวรัสตัวนี้มีจุดสำคัญหลายตำแหน่งที่เป็นคุณสมบัติของตัวเอง และที่แตกต่างชัดเจนคือ BA.2 ขาดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในยีนโปรตีนหนามสไปค์ ที่เรียกว่า S gene dropout ( DEL69-70) หรือการตรวจไม่พบยีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ตรวจพบโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมด้วย RT-PCR อย่างรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการตรวจวัด จึงเป็นที่มาของคำว่า “ล่องหน” ของชื่อไวรัสตัวนี้ครับ
น่าสนใจว่าไวรัส 2 สายพันธุ์นี้แตกต่างกันไม่มากนัก แต่ถ้า BA.2 วิ่งไวกว่า BA.1 จะทำให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 2 สายพันธุ์ได้ชัดขึ้น ตำแหน่งไหนที่ทำให้ไวรัสวิ่งได้ไว ไม่แน่นะครับโอมิครอนตัวหลักอาจโดนตัวน้องเอาชนะได้ในอีกไม่นานครับ อารมณ์ในอินเดียเหมือนตอนไวรัสตัวพี่ของเดลต้า B.1.617.1 ถูกรุ่นน้องอย่างเดลต้า B.1.617.2 ชนะยังไงไม่รู้ครับ”