เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มท.)เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2565ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
โดยนายนิพนธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเร่งรัดดำเนินงานติดตามความก้าวหน้าด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซียที่อยู่ระหว่างหลักเขตแดนที่ BP 23/9 -BP 23/10 ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำแบบแปลนถนนขั้นต้นระยะทาง 851 เมตร โดย อบจ. สงขลา ดำเนินการใช้งบฯประจำปีของหน่วยรวม 4 ล้านบาทจ้างที่ปรึกษาในการสำรวจออกแบบและจัดทำรายละเอียด มีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 มกราคม 2565 ควบคู่กับการจัดการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคฝ่ายไทยเพื่อพิจารณาแบบเเปลนถนนขั้นต้นให้ได้ข้อยุติร่วมกันก่อน และได้จัดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคในรูปแบบการประสานงาน เพื่อพิจารณาแบบแปลนถนนขั้นต้น โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยประสานงาน ทั้งนี้ให้จังหวัดสงขลา จัดส่งโครงการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย – มาเลเซีย (ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่) รายละเอียดประกอบด้วยแบบแปลนถนน พร้อมงบฯการก่อสร้างและค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างและผลอาสิน เสนอให้กับ ศอ.บต. ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2566 โดยคาดการณ์ว่า หากการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดในการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซียจะ ใช้บริการด่านสะเดาแห่งใหม่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะทำให้อำนวยความสะดวกทั้งประชาชนและการค้าซายแดน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมากขึ้นในสถานการณ์ปกติกว่า 1 ล้านล้านบาท
“นอกจากนี้เสนอให้เร่งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังด่านเปิงกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลกนี้ จะเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียเดินหน้าคล่องตัวขึ้น และเป็นช่องทางในการนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งส่งออกและนำเข้า ที่มีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท และเร่งแก้ปัญหาถนนเข้าด่านประกอบ เร่งรัดให้ขยาย 4 ช่องจราจร ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และที่สำคัญยังจะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในการเดินทาง และเร่งรัดการเปิดท่าอากาศยานเบตง ปี 65-66 เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่ประชาชนในพื้นที่” นายนิพนธ์ กล่าว