จุดเริ่มต้นของความร้าวฉานระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียมาจาก 4 สาเหตุสำคัญ ดังนี้
1.เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้
2.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดิอาระเบียอีก 3 ศพรวด รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ยังคงไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว
3.เดือนกุมภาพันธ์ 2533 นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย และเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ แม้จะพบรถยนต์จอดอยู่ที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง ถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เป็นระดับอุปทูต พร้อมออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด
ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุคที่มีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นอธิบดี ได้ปัดฝุ่นคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี่ ก่อนเอาผิด พลตำรวจโทสมคิด บุญถนอม เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้ ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายอัลรูไวลี่ โดยพฤติการณ์คืออุ้มนายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอาระเบีย แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิต จนต้องทำลายหลักฐานที่ จังหวัดชลบุรี
ในปี 2553 พลตำรวจโทสมคิดกับพวกรวม 4 คน ถูกดีเอสไอสั่งฟ้อง ในคดีร่วมกันฆ่านายอัลรูไวลี่ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่แล้วความหวังกลับพังทลาย เมื่อมีการแต่งตั้ง พลตำรวจโทสมคิด ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุฯออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจในการแต่งตั้งดังกล่าว นอกจากนี้ในที่สุดจากการพิจารณาของศาลฎีกา ก็ได้พิพากษายืนยกฟ้อง พลตำรวจโทสมคิด กับลูกน้องรวมทั้งหมด ชี้เหตุพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อย
ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคม 2557 ทางการซาอุฯ ได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยลงอีก โดยให้เจ้าหน้าที่ระดับเลขานุการโท เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายอับดุลอิลาห์ อัลชุ อัยบี อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ซึ่งถูกเรียกตัวกลับประเทศ เพราะไม่พอใจกรณีคดีนายอัลรูไวลี่
4.มหากาพย์เพชรซาอุฯ จากกรณี นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทย ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ในปี 2532 ได้ก่อเหตุโจรกรรมเพชร ทอง และอัญมณี ช่วงที่เจ้าชายไฟซาลเสด็จไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ ซึ่งนายเกรียงไกรขโมยเครื่องเพชรออกมาได้นับร้อยชิ้น น้ำหนักรวมกันกว่า 90 กิโลกรัม รวมทั้ง “บลูไดมอนด์” ซึ่งเป็นเพชรเก่าแก่หายากสีน้ำเงินขนาด 50 กะรัต ว่ากันว่ายังเป็นเพชรล้ำค่าประจำราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียด้วย
ต่อมาปี 2533 กรมตำรวจในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน จนจับกุมนายเกรียงไกรมาดำเนินคดีฐานลักทรัพย์ได้สำเร็จ ซึ่งนายเกรียงไกรให้รับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ขณะที่ตำรวจเริ่มตาหาเพชรที่นายเกรียงไกรขายไปก่อนถูกจับ โดยพบว่าหนึ่งในพ่อค้าเพชรที่รับซื้อของโจรต่อจากเกรียงไกรคือ นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรย่านสะพานเหล็กในกรุงเทพฯ
ไม่นานนักตำรวจตามหาเพชรบางส่วนคืนมาได้และส่งมอบของกลางส่วนแรกนี้คืนให้ทางการซาอุฯ แต่แล้วทางการซาอุฯ ได้ตรวจสอบพบว่าของที่ส่งคืนมากว่าครึ่งเป็นของปลอม ที่สำคัญคือไม่ได้ส่งบลูไดมอนด์มาด้วย ทำให้ พลตำรวจโทชลอเริ่มต้นตามหาเพชรที่หายไปอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่นายสันติ แต่นายสันติยืนยันว่าได้ส่งคืนเพชรให้ตำรวจหมดแล้ว และปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเพชรบลูไดมอนด์ กระทั่งเดือนกรกฎาคม พลตำรวจโทชลอ ได้ลักพาตัวนางดาราวดีและเด็กชายเสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและลูกชายของนายสันติ เพื่อเรียกค่าไถ่ และบีบให้นายสันตินำเพชรมาคืน ก่อนจะฆ่าปิดปากเหยื่อทั้งสอง โดยจัดฉากให้ดูเหมือนว่าสองแม่ลูกประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต
ในปี 2552 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำตัดสินศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต พลตำรวจโทชลอ รวมทั้งถูกถอดยศและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์