ไข่ไก่…เส้นทางราคาที่ต้องเข้าใจ

กดติดตาม TOP NEWS

“ไข่ไก่” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย และจัดเป็นโปรตีนที่มีราคาถูกที่สุดในอาหารกลุ่มโปรตีน โดยการเลี้ยงไก่ไข่ไทยได้พัฒนาการเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง และมีกระจายในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ทำให้สามารถหาได้ง่าย

ด้วยความที่ไข่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ และมีคุณค่าทางโภชนาการมาก โดยมีวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เลซิติน วิตามินเอ วิตามินบี1 บี2 บี3 บี6 และบี12 เป็นต้น ไข่ไก่จึงได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างกว้างขวาง

แต่บางคนอาจมีคำถามว่า ทำไมไข่ไก่ที่ขายตามแผงในตลาดสด กับไข่ไก่ที่ขายตามห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อถึงมีราคาที่แตกต่างกัน
บนเส้นทางไข่ไก่ที่กว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคมีซัพพลายเชนของวงจรการค้าไข่ที่ยาว วงจรการค้าไข่เริ่มกันตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรวมไข่ (ล้งไข่) ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ค้าปลีก ไปจนถึงร้านขายของชำ หรือผู้ค้าตามตลาดสดต่างๆ ซึ่งในแต่ละขั้นดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งสิ้น

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ มีต้นทุนการเลี้ยง ที่มีความแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภาวะโรค ปริมาณของแม่ไก่ยืนกรง รวมถึงสภาพอากาศ อย่างในช่วงภัยแล้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม และค่าไฟจากที่ต้องเปิดสปริงเกอร์สำหรับพ่นน้ำ และเปิดระบบทำความเย็นสำหรับโรงเรือนระบบปิดแบบอีแวปตลอดเวลา เพื่อลดความร้อน ทำให้มีค่าน้ำค่าไฟเพิ่มขึ้น

เมื่อเกษตรกรได้ผลผลิตไข่ไก่ จะมีผู้รวบรวมไข่รายใหญ่ ที่เรียกว่าล้งไข่ เป็นคนรับซื้อผลผลิตไข่ไก่จากเกษตรกรแบบเหมาหมด เท่ากับเกษตรกรจะขายขาด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลกำไรที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เลย

ดังนั้น ที่บางคนบ่นว่า ช่วงที่ไข่ไก่แพง แล้วโทษเกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.37 – 3.00 บาทเท่านั้น

ในส่วนของล้งไข่ที่ซื้อไข่ไก่จากเกษตรกรไป จะนำไข่ไก่มาดำเนินการแยกไข่บุบ ไข่ร้าว และไข่แตกออก แล้วนำไข่ส่วนนี้ออกขายในราคาที่ถูกกว่าฟองไข่ที่มีความสมบูรณ์ ในขั้นตอนนี้ จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งค่าแรง กับค่าขนส่งจากฟาร์มมาล้ง ค่าใช้จ่ายการคัด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าถาดไข่ และความเสียหายระหว่างการคัดไข่ หากเกิดการบุบ แตก ก่อนจะขนไปยังล้งที่ 2 ซึ่งจะมีค่าขนส่งและค่าแรงในการขนส่งอีกครั้ง

จากนั้น ยี่ปั๊ว ซึ่งเป็นร้านขายใหญ่ที่กระจายไข่ไก่ในพื้นที่ จะเป็นการซื้อมาขายไป แล้วจึงไปถึง ซาปั๊ว ผู้ค้าไข่ที่รับไข่ครั้งละ 100 -200 แผง เพื่อขายต่อให้กับแม่ค้าปลีกในตลาด หรือร้านค้าย่อยที่รับไข่ไปขายให้ผู้บริโภคครั้งละ 10-20 แผง ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีค่าบริหารจัดการ อาทิ ค่าแรง ค่าขนส่ง และค่าเช่าแผง

เมื่อมาดูไข่ไก่ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือร้านสะดวกซื้อ หรือที่เรียกว่าไข่ไก่พรีเมี่ยม จะมีกระบวนการที่ต่างออกไป เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงที่อยู่ในระบบปิด ผลผลิตไข่ไก่จะได้รับการคัดคุณภาพเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่การล้างทำความสะอาดฟองไข่ไก่ ฆ่าเชื้อที่อาจติดมาทุกฟอง ด้วยเครื่องล้างที่ทันสมัย ภายในโรงคัดไข่ที่เป็นระบบปิด ด้วยมาตรฐานสากลทั้ง GMP, HACCP และใช้บรรจุภัณฑ์พิเศษในรูปของแพคแบรนด์ โดยจัดเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสตลอดเวลา เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเลเซอร์สแกนสิ่งผิดปกติในฟองไข่ เช่น จุดเลือด จุดเนื้อ ในส่วนของแพคแบรนด์มีการระบุคุณค่าทางโภชนาการ และวันที่ผลิตที่บรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ ซึ่งภายใต้กระบวนการทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายเพื่อการผลิตสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ทำให้ไข่ไก่แพคแบรนด์มีราคาสูงกว่าไข่ไก่ที่ขายอยู่ในตลาดสดทั่วไป

สินค้าไข่ไก่แพคแบรนด์ปัจจุบันมีจากหลายบริษัทหลายแบรนด์หลายขนาด เป็นผลผลิตทางเลือกสำหรับผู้บริโภค จะมีราคาสูงกว่าไข่ไก่ปกติที่จำหน่ายในท้องตลาด เนื่องจากทุกกระบวนการผลิตจะเป็นไปตามมาตรฐานความสด สะอาด ปลอดภัย

ทั้งหมดนี้เป็นความแตกต่างกันของไข่ไก่ที่จำหน่ายในท้องตลาด กับไข่ไก่พรีเมี่ยม แต่ก็อาจมีคำถามว่า ทำไมไข่แบรนด์จึงมีราคาที่เกินจากราคาควบคุมของกรมการค้าภายใน นั่นเป็นเพราะกรมการค้าภายใน ไม่จัดให้ไข่ไก่พรีเมี่ยมอยู่ในกลุ่มของสินค้าควบคุม

ที่สำคัญไข่ไก่แพคแบรนด์ จัดเป็นผลผลิตทางเลือกของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความพิเศษ ซึ่งในตลาดมีสินค้าประเภทเดียวกันจากหลายบริษัทและหลายแบรนด์ ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อตามความเลือกซื้อตามความชอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น