ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ เรื่อง โควิด 19 การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Moderna มีเนื้อหาดังนี้ โควิด-19 กับความหมาย “โรคประจำถิ่น” ในระยะนี้เราจะได้ยิน โรคโควิด 19 กับ โรคประจำถิ่น
คำว่า “โรคประจำถิ่น” ที่จริงมาจาก “endemic” เป็นการที่โรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่นโรคไข้เหลือง เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โรคปอดบวมตะวันออกกลาง (MERS) ประจำถิ่นอยู่ในตะวันออกกลาง และถ้าระบาดใหญ่ทั่วโลก ข้ามทวีป ก็เรียกว่า “pandemic” โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาศที่จะเกิดเฉพาะถิ่น หรือ ประจำถิ่น โรคระบาดเราจะมีโรคติดต่อ (communicable disease) เช่น หัด คอตีบ และโรคติดต่อ ที่เราพบมาตั้งแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีน เราก็ไม่เรียกว่า โรคประจำถิ่น
โรคติดต่อ มีจำนวนมากมาย ถ้าโรกนั้นมีความร้ายแรง มีความรุนแรง อัตราตายสูง หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศ เป็น “โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง” เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย และเรายังมี พรบ โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้นจะอยู่ในบัญชีของพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
โรค covid19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคนี้จึงอยู่ในบัญชีตามพระราชบัญญัติ เพื่อใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล ถ้าในอนาคต โรค covid 19 มีความรุนแรงน้อยลง และเราต้องอยู่กับโรคนี้เหมือนกับ อยู่กับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ ที่จะมาตามฤดูกาล เราก็ไม่ได้ถึงกับควบคุมดูแลแบบโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
ดังนั้นโรคโควิด-19 จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็น “โรคประจำถิ่น” เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น แต่ถ้าในอนาคต โรคโควิด-19 ความรุนแรงน้อยลง และมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาล ไอซียู เสียชีวิต ลดลงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ตัวไวรัสเองลดความรุนแรงลง และถ้าโรคนี้ คล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะเรียกว่าโรคโควิด 19 ตามฤดูกาล เช่นจะระบาดมากในฤดูฝน หรือ “โรคติดต่อทั่วไป” โดยที่การดูแลและควบคุม และ กฎเกณฑ์ การรายงาน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันตามปกติคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่นไข้หวัดใหญ่