ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 30 มกราคม 2565 เกิดแหล่งท่องเที่ยวขึ้นอีกแห่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีนักท่องเที่ยวพูดถึงกันเป็นจำนวนมาก นั่นคือ สวนสาธารณะภูหล่น อยู่ในพื้นที่ อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน บนเนื้อที่ประมาณ 61ไร่ จุดเด่นของสวนสาธารณะนี้ คือ มีต้นสุพรรณิการ์ กว่า 200 ต้น ซึ่งต้นสุพรรณิการ์ หรือ “ฝ้ายคำ” จะออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่งเต็มลาน ตั้งแต่เดือนปลายธันวาคม จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีทั้งดอกที่บานอยู่บนต้น และดอกที่ร่วงหล่นลงตามพื้นดินจนเหลืองอร่ามไปหมด มีความสวยงามมาก สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชมได้สัมผัส เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป และอัพลงโซเซียวอวดเพื่อนๆกันเป็นจำนวนมาก อย่างสนุกสนาน
โดย ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร กล่าวว่า ดอกฝ้ายคำ หรือดอกสุพรรณิการ์ สวนสาธารณะภูหล่น พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมกับความงามของดอกสุพรรณิการ์ กว่า 200 ต้น ซึ่งกำลังผลิดอกเต็มต้น เต็มสวนสาธารณะภูหล่น รอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวชม โดยทางเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารได้จัดกิจกรรม “นุ่งผ้าไทยไปจิบกาแฟแลดอกฝ้ายคำ”ซึ่งภายในงานได้เชิญชวนกันนุ่งผ้าไทย มาถ่ายรูปดอกฝ้ายคำ นั่งกินกาแฟ เต้นบาสโลบ ออกกำลังกาย ทั้งนี้เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมความงามของดอกฝ้ายคำที่กำลังออกดอกสวยงาม
นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารกานกินอร่อยโดยเฉพาะ“ซาลาเปาพิบูล” ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักว่าเป็นซาลาเปาที่มีความอร่อย รสชาติเป็นหนึ่งมาตลอดรอให้นักท่องเที่ยวได้แวะชิมซื้อเป็นของฝากได้เป็นอย่างดี ด้านความเชื่อ หากปลูกต้นสุพรรณิการ์ไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะต้นสุพรรณิการ์ โบราณเรียกว่า ต้นปาริชาติ คือ ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ปลูกไว้ตามวิหารของพระเจ้าในสมัยพุทธกาลนอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า เป็นต้นไม้ที่มีค่าสูง เปรียบเสมือนทองคำ เพราะต้นสุพรรณิการ์ บางคนเรียกว่า ต้นฝ้ายคำ ซึ่งดอกมีสีเหลืองคล้ายสีของทองคำ ชูช่อขึ้นสู่ฟ้า เป็นที่เบิกบานตระการตา คนทั่วไปจึงยกย่องว่าเป็นดอกไม้คู่ฟ้า จึงเป็นไม้มงคลนาม และสำหรับการเดินทางไปสวนสาธารณะภูหล่นแห่งนี้ ออกจากตัวเมืองอุบลราชธานี มุ่งหน้าไปยังอำเภอพิบูลมังสาหาร ผ่านซุ้มประตูเมือง ไม่ถึง100 เมตร สังเกตด้านซ้ายมือ มีป้ายบอกสวนสาธารณะภูหล่น ให้เลี้ยวซ้าย และตรงไปตามทางอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงที่หมาย รวมระยะทางจากตัวเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 43 กม.
ภาพ/ข่าว กฤษณะ วิลามาศ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.อุบลราชธานี