ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทำไมพรรคเพื่อไทยชนะพรรคพลังประชารัฐอย่างขาดลอย ในการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. (หลักสี่-จตุจักร)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,324 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทำไมพรรคเพื่อไทยจึงชนะพรรคพลังประชารัฐอย่างขาดลอยในการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. (หลักสี่-จตุจักร) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยชนะพรรคพลังประชารัฐอย่างขาดลอย ในการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. (หลักสี่-จตุจักร) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.21 ระบุว่า ฐานคะแนนเดิมในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยดีกว่าพรรคพลังประชารัฐ รองลงมา ร้อยละ 30.14 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 25.45 ระบุว่า ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมในพื้นที่มากกว่าผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 24.70 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 15.03 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของอดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ นายสิระ เจนจาคะ
นอกจากนี้ร้อยละ 14.05 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 12.24 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยมีกลยุทธ์ในการหาเสียงดีกว่าพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.63 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 6.42 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนพอใจการทำงานของพรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้าน ร้อยละ 1.96 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐแพ้ให้กับกระแสของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 0.68 ระบุว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และร้อยละ 0.38 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ