เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า จากโปรแกรมรายงานผลการติดตามการโหวต ส.ส.จากกรณีที่การประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ…. ที่ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ แต่เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขาดไป 4 เสียง ทำให้การประชุมล่มไป เป็นการโหวตครั้งที่ 143 พบว่า พรรคพลังประชารัฐ มีส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 97 คน ส.ส. มาโหวต 83 คน เมื่อรวมแล้วส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนทั้งหมด 267 คน มาโหวตทั้งสิ้น 175 คน พรรคเพื่อไทย มีส.ส. 131 คน มาโหวตเพียง 14 คน พรรคก้าวไกล เจ้าของร่างกฎหมาย มีส.ส. 52 คน มาโหวต 42 คน ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านมีทั้งหมด 208 คน มาโหวตเพียง 59 คน ผลจึงทำให้องค์ประชุม ขาดไป 4 เสียง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะเปรียบเทียบในวันเดียวกันการประชุมสภาฯช่วงเช้าวันนี้ (4 ก.พ.) พรรคพลังประชารัฐ มาโหวต 84 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ปกติมาโหวตจำนวนสูงมาก แต่ครั้งนี้ถูกกักตัวจาก 59 คน จึงมาโหวต 35 คน รวมทั้งหมดรัฐบาลมาโหวตช่วงเช้า 204 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย มาโหวตเพียง 6 คน ขณะที่พรรคก้าวไกล โหวต 31 คน รวมฝ่ายค้านทั้งหมด โหวตเพียง 40 คน นอกจากนี้ยังพบว่า การโหวตเดือนธ.ค. ซึ่งมีจำนวนการโหวต 70 ครั้ง สิ่งที่สรุปได้ คือมีส.ส.จำนวน 7 คนที่ไม่เคยมาโหวตเลยทั้งเดือน และยังมีส.ส.จำนวน 50 คนมาโหวต 100 % และทุกการโหวตของส.ส.ทุกคนจะมีการบันทึกไว้หมดในระบบโปรแกรมต่างๆ
“ส.ส.ทุกคน ได้รับเงินเดือนภาษีของประชาชน การปฏิบัติหน้าที่และมาประชุมสภาฯเพื่อที่จะโหวตเป็นหน้าที่สำคัญของส.ส.ถ้าส.ส.คนใดบอกว่า ไม่ต้องมาโหวต มาทำงานก็ได้ ผมคิดว่าตอบคำถามไม่ได้ เพราะท่านก็มีเงินเดือนและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี อยากให้สังคมติดตามด้วยว่าหลักคิดที่ว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมาโหวตทำได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของสภาฯอยู่แล้ว และหวังว่าเพื่อนสมาชิกหลายคนที่ออกมาพูดว่า ไม่มาประชุมทำให้สภาล่มและเรียกร้องให้ยุบสภา ผมคิดว่าท่านเข้าใจผิด ถ้าท่านไม่มาประชุมและคิดว่าไม่อยากมาประชุม มีทางออกคือ แสดงว่าท่านไม่อยากเป็นส.ส.ก็ควรลาออกไปดีกว่ามาเรียกร้องให้ยุบสภาฯ” นายไพบูลย์ กล่าว